เช็กกันให้ดีก่อนจอดรถ เพราะถนนหลายสายไม่ได้เปิดให้จอดฟรี หลังจากที่ทางกรุงเทพมหานครได้ออกระเบียบเก็บค่าจอดรถใน 66 เส้นทาง โดยอัตราที่จัดเก็บขึ้นอยู่กับขนาดรถ ต่ำสุด ชั่วโมงละ 5 บาท แพงที่สุดชั่วโมงละ 80 บาท
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดที่จอดยานยนต์และอัตราค่าธรรมเนียมยานยนต์ โดยระบุว่า เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดที่จอดยานยนต์ และอัตราค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีการระบุรายละเอียดเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถในถนน 66 สายทั่วกรุงเทพฯ เช่น ถนนมหานคร ถนนประดิพัทธ์ ถนนพระสุเมรุ ถนนนครไชยศรี ถนนบูรพา ถนนมหาจักร ถนนเจริญกรุง ซอยนานา และถนนพาหุรัด เป็นต้น โดยมีการกำหนดอัตรา
- รถจักรยานยนต์ ชั่วโมงแรก 5 บาท ชั่วโมงต่อไป 10 บาท
- รถยนต์ขนาด 4 ล้อชั่วโมงแรก 10 บาท ชั่วโมงต่อไป 20 บาท
- รถขนาดเกิน 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 50 บาท ชั่วโมงต่อไป 80 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ เศษของชั่วโมงจะปัดเป็นหนึ่งชั่วโมง พร้อมยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์บริเวณเขตทางถนนราชดำริ สำหรับยานยนต์ทุกประเภท เฉพาะช่วงเวลา 04.00 – 08.00 น. ของทุกวัน
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า นี่เป็นระเบียบเดิมที่มีมาตั้งแต่ปี 2537 ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยราชกิจจาฯ ที่เผยแพร่ออกมาครั้งนี้ มีเพิ่มเติมเรื่องเดียวคือ ยกเว้นการจัดเก็บค่าจอดรถบริเวณถนนราชดำริ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำการเก็บค่าธรรมเนียม จะเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักการคลัง กทม. โดยจะมีบัตรประจำตัวของ กทม. และจะออกใบเสร็จรับเงินให้เมื่อมีการจัดเก็บ หากพบมีการแอบอ้าง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บได้ เมื่อปี 2560 สามารถจัดเก็บรายได้ 11.6 ล้านบาท บนถนน 65 สาย , ส่วนเขตทางถนนราชดำริ กทม. จัดเก็บได้ 7.3 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา แต่ละปี กทม. สามารถจัดเก็บรายได้รวม 66 สายอยู่ที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมือง
โดยในปี 2561 กทม. คาดว่าจะมีรายได้ลดลง เนื่องจากมีการปิดถนนเพื่อจัดงานพระราชพิธีสำคัญในสายถนนหลายสาย ส่วนในอนาคตจำเป็นต้องเพิ่มถนนหรือไม่ จะต้องพิจารณาปัจจัยถึงถนนในแต่ละพื้นที่และจำนวนหลังคาเรือนที่เพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาเพิ่มเติม