ทีมนักวิทยาศาสตร์เกาหลีได้พัฒนาคอนแทคเลนส์อัจฉริยะที่สามารถช่วยติดตามระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ และยังไม่ระคายเคืองขณะสวมใส่ เพื่อให้ผู้ป่วยมองภาพชัดเจนขึ้นด้วย
ปัจจุบันมีความพยายามศึกษาและพัฒนาสมาร์ตคอนแทคเลนส์ หรือคอนแทคเลนส์อัจฉริยะ มากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญของคอนแทคเลนส์อัจฉริยะคือ การทำให้ผู้ใช้รู้สึกระคายเคืองตา ซึ่งเกิดจากการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีพื้นผิวแข็ง
แต่ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเมืองอุลซาน หรือ UNIST จากเกาหลีใต้ ได้พัฒนาคอนแทคเลนส์อัจฉริยะที่สามารถช่วยติดตามระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และแก้ปัญหาการระคายเคืองตาขณะใช้งานลงได้อีกด้วย
โดยตัวเลนส์จะมีความยืดหยุ่น เนื่องจากออกแบบให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แยกส่วนกัน และเชื่อมโยงเข้ากับเลนส์ด้วยตัวนำที่ยืดได้ ซึ่งวัสดุที่มีความยืดหยุ่นนี้จะช่วยป้องกันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ให้เสียหายเวลาหยิบเลนส์ขึ้นมา และด้วยลักษณะของการหักเหแสงเลนส์ก็จะมีความโปร่งใสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้บดบังวิสัยการมองเห็นที่ชัดเจน
นอกจากนี้ เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำตาลนั้น จะมีไฟ LED เพื่อแสดงว่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติ แต่หากไฟดับลง แปลว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น โดยพลังงานสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะส่งมาจากขดลวดแหล่งพลังงานผ่านทางนาโนไฟเบอร์
ด้านจาง อุง พาร์ก (Jang-Ung Park) หนึ่งในทีมผู้พัฒนา คาดหวังว่า คอนแทคเลนส์อัจฉริยะนี้จะสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 5 ปี และเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ถูกสงวนไว้ใช้สำหรับตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในการนำยาเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย