นักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษคิดค้นวิธีลดปริมาณขยะแพ็กเกจอาหาร และขยะอาหารสด ด้วยการใช้ 'เซนเซอร์ความสด' บอกวันหมดอายุ
นักวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยอิมพีเรียล ในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ พัฒนาเซนเซอร์บ่งบอกความสดสำหรับเนื้อสัตว์ รวมถึงเนื้อปลา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทราบวันหมดอายุได้โดยไม่ต้องมีฉลากวันหมดอายุ โดยใช้วิธีพิมพ์อิเล็กโทรดคาร์บอนลงบนกระดาษเซลลูโลส ซึ่งจะสามารถอ่านข้อมูลแบบ NFC หรือ การสื่อสารไร้สายระยะสั้นได้ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้สมาร์ตโฟนตรวจสอบข้อมูลได้ทันที
ทั้งนี้ เซนเซอร์ทั้งหมดสามารถย่อยสลายได้และไม่มีสารพิษ จึงไม่เป็นอันตรายเมื่อนำมาใช้กับอาหาร ซึ่งการมีเซนเซอร์เช่นนี้ จะทำให้ผู้บริโภคเลือกอาหารได้ตรงกับความต้องการยิ่งขึ้น ทั้งยังรู้วันที่สามารถบริโภคได้หรือไม่ได้แน่ชัด ช่วยลดปัญหา Food Waste หรือ อาหารเหลือทิ้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม
นอกจากปัญหาอาหารเหลือทิ้งแล้ว เซนเซอร์เหล่านี้ยังช่วยลดปัญหาการห่อหุ้มอาหารด้วยแพ็กเกจที่ไม่จำเป็น ลดการใช้พลาสติกและฉลากวันหมดอายุ ซึ่งเมื่อคิดต้นทุนในส่วนนี้แล้วจะพบว่า เซนเซอร์ ที่ตกราคาชิ้นละ 1.6 เพนซ์ หรือ 62 สตางค์ คุ้มค่ากว่าราคาแพ็กเกจห่อหุ้มอาหารอย่างชัดเจน ทั้งยังมีอายุการใช้งานนานถึง 3 ปีด้วย