นักวิจัยคนไทย นำขยะทางการเกษตรมาผลิตพลาสติก ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน
ขยะทางการเกษตร ที่ว่านี้ก็คือ "สับปะรด" นั่นเอง ซึ่งคิดค้นโดย ดร.นิธิมา นาคทอง ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ หลักสูตรนานาชาติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเธอเห็นว่า หลังการเก็บเกี่ยวสับปะรด ใบและลำต้นจะกลายเป็นขยะ ต้องเผาทิ้ง สร้างมลภาวะทางอากาศ เธอจึงนำลำต้นของสับปะรดมาสกัดเป็นแป้ง
ซึ่งพบว่า แป้งที่ได้จากลำต้นของสับปะรดมีเส้นใยอะไมโลส (Amylose) ค่อนข้างสูง ถือเป็นแป้งที่ย่อยยาก เมื่อขึ้นรูปเป็นภาวชนะจะมีคุณสมบัติเชิงกลที่สูง มีความทนต่อการใช้งานมากกว่าแป้งชนิดอื่น นอกจากนี้ ยังดูดซับน้ำได้น้อยกว่า ทำให้วัสดุที่ได้เปื่อยยุ่ยน้อยกว่า จึงเริ่มศึกษาคิดค้น พลาสติกที่ทำจากแป้ง เข้ามาทดแทนพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ ด็อกเตอร์ นิธิมา ได้นำแป้งสับปะรดมาทดลองขึ้นรูปเป็นกระถางเพาะชำสำหรับต้นกล้า โดยไม่ต้องฉีกถุงเพาะชำก่อนนำต้นกล้าลงดินเหมือนแต่ก่อนแล้ว สามารถหย่อนลงไปทั้งกระถ่างได้เลย และพบว่ากระถ่างที่เธอผลิตขึ้นมานั้น สามารถย่อยสลายในดินได้เองในเวลา 45 วัน นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีที่ลดความบอบช้ำให้กับต้นกล้าอีกด้วย
พลาสติกจากแป้งสับปะรดมีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลายมาก อาจนำไปทำกล่องใส่อาหาร ทดแทนกล่องโฟม หรือกล่องพลาสติก เป็นการลดการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ช่วยลดไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม และแน่นอนว่า นวัตกรรมของเธอได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย
ตอนนี้ พลาสติกย่อยสลายได้จากแป้งสับปะรด ได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชน เล็งนำนวัตกรรมนี้ไปต่อยอดแล้ว ซึ่ง ด็อกเตอร์ นิธิมา บอกว่า กำลังอยู่ในช่วงเจรจาและการต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรม
ดูฝั่งไทยไปแล้ว ไปดูความตื่นตัวในการรักษาสิ่งแวดล้อมของต่างชาติกันบ้าง ซึ่งก้าวไปอีกหนึ่งแล้ว คือการผลิตของรองเท้าจากพืช 100% ขอเน้นย้ำว่าทุกส่วนทำจากพืช 100%
รองเท้าดังกล่าว ผลิตโดย Native Shoes บริษัทรองเท้าสัญชาติแคนาดา ซึ่งรองเท้านี้มีชื่อเป็นทางการว่า Plant Shoe จุดเด่นคือการสร้างจากเส้นใยธรรมชาติที่มีความคงทน เช่น เปลือกสับปะรด ยังมีพื้นยางที่ผลิตจากปอกระเจา และเส้นใยอื่น ซึ่งมีน้ำมันมะกอกเป็นกาวประสาน ทั้งหมดนี้กลายเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้รองเท้าทั้งคู่สลายตัวได้สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม รองเท้าคู่นี้ยังมีจุดด้อยในเรื่องราคา เพราะการตัดเย็บนั่น เป็นกระบวนการที่ใช้แรงงานมาก ราคาจึงพุ่งขึ้นไปที่ 200 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,500 บาท และรองเท้า จะเริ่มสลายตัวในเวลาประมาณ 45 วันเท่านั้น เนื่องจากทุกส่วนประกอบของรองเท้าทำขึ้นโดยไม่มีสารเคมีหรือสารสังเคราะห์เลย