ท่ามกลางกระแสข่าวการเปิดสำนักงานของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในนครนิวยอร์ก สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือระบบโรงเรียนทางเลือกที่ถูกออกแบบมาเพื่อผลิตแรงงานให้บริษัทเหล่านี้ และทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสภาพใกล้เคียงกับสังคมจริงมากที่สุด กับโครงการ STEAM ในเขตบรุกลิน
เมื่อกล่าวถึงนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ทุกวันนี้ ภาพจำของคนส่วนใหญ่อาจเป็นบริษัทสตาร์ตอัปมากมาย หรือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทด้านเทคโนโลยี แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในนครนิวยอร์กคือโครงการโรงเรียนทางเลือกที่มีเป้าหมายให้เด็กได้ทดลองใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าจะยึดติดกับตำรา ภายใต้ชื่อโครงการว่า 'สตีม' (STEAM) ที่ย่อมาจาก Science (วิทยาศาสตร์) , Technology (เทคโนโลยี) , Engineering (วิศวกรรม) , Arts (ศิลปะ) และ Math (คณิตศาสตร์) ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบสำหรับนักเรียนในเขตบรุกลิน
ล่าสุด The New York Times ได้ตีพิมพ์บทความ กล่าวถึงโมเดลโรงเรียนทางเลือกแบบนี้ โดยระบุว่านอกเหนือจากการมอบความรู้ให้นักเรียนในเชิงวิชาชีพแล้ว Brooklyn STEAM Center ยังรับเอาเทรนด์สำคัญที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เข้ามาผนวกรวมกับการเรียนการสอน นั่นก็คือ นำโรงเรียนไปตั้งอยู่ในสตาร์ตอัป และให้นักเรียนมีบรรยากาศการเรียนรู้เสมือนได้ไปทดลองทำงานจริง โดยนักเรียนมัธยม ทั้งต้นและปลาย ในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้น 221 คน จะใช้เวลาครึ่งวันไปกับการเรียนตามหลักสูตรปกติ ที่โรงเรียนอื่น ๆ ในเครือ New York City Public School จากนั้นอีกครึ่งวันที่เหลือจะเรียนวิชาเฉพาะที่ตนเองเลือก แบ่งเป็น
- Design and Engineering (การออกแบบและวิศวกรรม)
- Computer Science and Infomation Technology (คอมพิวเตอร์และไอที)
- Film and Media (ภาพยนตร์และสื่อ)
- Construction Techonology (วิศวกรรมก่อสร้าง)
- Culinary Arts and Hospitality Management (ศิลปะการปรุงอาหารและจัดการธุรกิจบริการ)
นักเรียนในโครงการ STEAM มาจากทั้งการสมัครเข้ามาเอง และการคัดเลือกโดยโรงเรียนในเขตการศึกษา โดยไม่มีเกรดเฉลี่ยมาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก ซึ่งจากภาพรวมแล้ว 93 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียน เป็นคนดำหรือฮิสแปนิก และ 74% เป็นเด็กจากครอบครัวยากจน ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์อาหารกลางวันฟรีหรือราคาพิเศษได้อีกด้วย เท่ากับว่าโครงการนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระจายโอกาสในการเรียนรู้ และเน้นเสริมทักษะการทำงานในอนาคตเป็นหลัก โดยร่วมมือกับธุรกิจในท้องถิ่น จากเดิมที่มีหัวใจสำคัญเป็นงานประเภทที่ต้อง 'ลงแรง' หรือ Blue-collar Industries ก็ค่อย ๆ ขยายขอบเขตการเรียนการสอนสู่บริการสุขภาพ วิศวกรรม และไอทีมากขึ้น
โครงการ STEAM ใช้พื้นที่การเรียนรู้ส่วนใหญ่ที่ Brooklyn Navy Yard หรือโกดังประกอบเรือเก่าของนิวยอร์ก ที่ภายในถูกปรับให้มีบรรยากาศคล้ายโคเวิร์กกิงสเปซ ดูแลโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร นอกจากนี้ ยังขยายพื้นที่ห้องเรียนไปสู่ 'พื้นที่การทำงานจริง' อย่างห้างสรรพสินค้า สำหรับชั้นเรียน Fashion and Margeting , บริษัทพลังงาน สำหรับชั้นเรียน Energy Industry และสนามบินลากวาร์เดีย สำหรับ Aviation School เพื่อให้เด็กได้เข้าใจการทำงานจริงได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนตอนนี้มีหลักสูตรวิชาชีพเปิดให้เรียนมากถึง 301 หลักสูตร ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรใหม่ที่เพิ่งเปิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถึง 47 หลักสูตร โดยมีนักเรียนผ่านโครงการมาแล้ว 64,000 คน และมีอาชีพให้เลือกตั้งแต่ วิศวกรซอฟต์แวร์ ไปจนถึง ผู้จัดการท่าเรือ
อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนแบบนี้ก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา จากผู้ปกครองที่เป็นห่วงว่า การให้เด็กเลือกเส้นทางอาชีพเร็วเกินไปจะทำให้โฟกัสแต่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนยากที่จะเปลี่ยนเส้นทางเมื่อโตขึ้น หรือยิ่งไปกว่านั้น คือยึดติดกับการเรียนในรูปแบบนี้ จนเข้าสู่ตลาดงานโดยไม่คิดเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งมีนักวิชาการเสนอแนะว่าโครงการควรมีตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญในสายงาน และตัวแทนจากสถาบันระดับอุดมศึกษาเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่กับเด็ก ไม่ใช่อุตสาหกรรม
ดอกเตอร์ เลสเตอร์ ยัง หนึ่งในผู้ก่อตั้ง STEAM ให้ความเห็นว่า การเรียกสายวิชาชีพแบบเดิมนั้น ล้าสมัยไปเสียแล้ว และการให้เด็กจากโรงเรียนหลากหลายระดับมาทำงานร่วมกัน โดยไม่แบ่งแยก Ranking จะสะท้อนการทำงานโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่า ขณะที่ เคยอน ไพรซ์ ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน ระบุว่า เขาไม่ได้ต้องการจะจำกัดสายงานหรือการเรียนรู้ของนักเรียน และเด็กจำนวนมากก็เลือกที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อสะสมความรู้ต่อยอดจากที่ได้เรียนมาแล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นเพียงการเปิดโอกาสทางการเรียนรู้อีกทางหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ นักเรียนของ STEAM จะได้ปฏิบัติงานจริง ทั้งจากการจ้างงานเป็น Job ของบริษัทที่ร่วมดูแล และการทำโครงงาน เช่น นักเรียนคอมพิวเตอร์ต้องทำงานในแล็บคอมพิวเตอร์ ส่วนนักเรียนภาพยนตร์ต้องผลิตพ็อดแคสต์ รวมไปถึงถ่ายทำและตัดต่อคลิปโปรโมตโรงเรียนด้วย นอกจากนี้ ทุกคนยังต้องเรียนสิ่งที่เรียกว่า Soft Skills หรือ ทักษะข้างเคียง ที่จำเป็นต่อชีวิตการทำงาน เช่น การไปถึงจุดนัดหมายตรงต่อเวลา , การตอบอีเมล , การเข้ากับเพื่อนร่วมงานให้ได้ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อนร่วมงาน
ดีออน วัตส์ วัย 16 ปี หนึ่งในนักเรียนของ STEAM กล่าวว่า โมเดลการเรียนแบบนี้ทำให้เธอรู้สึกประสบความสำเร็จในสายวิชาที่มีแต่ผู้ชาย อย่างอุตสาหกรรมก่อสร้าง และยังกระตุ้นให้เธอวางแผนจะมีธุรกิจเป็นของตนเองในอนาคตด้วย ซึ่งเธอได้กล่าวอย่างน่าสนใจไว้ว่า 'ชั้นเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ช่วยให้ซ่อมวงจรไฟฟ้าได้เสียหน่อย การอยู่รอดในชีวิตจริงไม่ได้ง่ายเหมือนอ่านหนังสือนี่นะ'
วันนี้ (12 ก.พ.62) เป็นกำหนดการเปิดอาคารใหม่ของโรงเรียนภายในโกดังต่อเรือ Brooklyn Navy Yard ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้าง 17 ล้านดอลลาร์ หรือ 530 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากเทียบกับกระบวนการผลิตแรงงานเข้าสู่ระบบแล้ว ถือเป็นการลงทุนที่น่าจะคุ้มทุน และสร้างกำไรให้กับนครนิวยอร์ก และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ได้ดีทีเดียว