รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand มองปม “ดีอีเอส” ใช้แอปพลิเคชั่น ติดตามคนไทยที่กลับเข้าประเทศ ตามถึงภูมิลำเนา “คำผกา” มองต้องแยกให้ออก จะใช้แอปฯ เพื่อดูแล หรือ ควบคุมประชาชนในช่วงโรคระบาดกันแน่ ชี้ออกแบบแอปฯ อยู่บนฐานอะไร ก็สะท้อนวิธีคิดรัฐบาล ขณะที่สภาฯ ยังไม่ตกผลึกใช้ออนไลน์ประชุมสภาฯ หรือไม่
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ได้ต่อยอดใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชัน AOT Airports ที่ร่วมกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ใช้ติดตามคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศ โดยปรับปรุงให้ใช้งานสะดวกขึ้น เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใช้ติดตามตัวประชาชนที่เดินทางกลับจาก กทม. -ปริมณฑล ไปยังภูมิลำเนา หลังจากที่กระทรวงมหาดไทย ออกคำสั่งให้ทุกจังหวัด สำรวจข้อมูลประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ช่วยให้การกักกันตัวเอง (Self quarantine)มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้นำแอปพลิเคชันนี้ไปใช้งานแล้ว โดยเริ่มนำร่องที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นแห่งแรก มีขั้นตอนคือ เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ไปพบกับบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่กลับมาจาก กทม. ถึงที่บ้าน ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จากนั้นระบบจะแจ้งเตือน 3 ครั้งภายใน 12 ชม. เพื่อให้บุคคลนั้นระบุสถานที่กักกันตัวเอง
เมื่อระบุสถานที่กักกันตัวเองแล้ว ผู้ใช้จะต้องกักตัวเองอยู่ในพื้นที่ 14 วัน ทุกวันต้องรายงานตัวผ่านระบบ ด้วยการถ่ายรูป 3 เวลา คือ 10.30 , 14.30 น. และ 18.00 น.เจ้าหน้าที่จะเห็นสัญลักษณ์สีเขียวว่าได้ดำเนินการแล้ว ถ้าไม่ทำตามกำหนด ระบบจะแจ้งเตือนผู้ใช้ทุกชั่วโมง และหากผู้ใช้ออกจากสถานที่กักกันเกิน 50 เมตร จะปรากฏสัญลักษณ์สีส้ม ผู้ใช้ไม่รายงานตัว สัญลักษณ์จะเป็นสีแดง หากผู้ใช้ปิดแอปสัญลักษณ์จะเป็นสีเทา ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ข้อมูลและลงไปตามหาตัวในพื้นที่ได้ทันที
ทั้งนี้ แอปพลิเคชันดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผนที่ทั้งประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลแต่ละจังหวัดจนถึงระดับพื้นที่ได้ โดยแต่ละพื้นที่ยังระบุชื่อและสถานะของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้อย่างละเอียด จึงช่วยให้ส่วนกลาง รวมไปถึงผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ติดตามตัวและรู้ข้อมูลของผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองที่ประจำจุดตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ใช้ในการตรวจสอบว่าบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้รายงานตัวและกักกันตัวเองครบ 14 วันแล้ว ตามมาตรฐานการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ได้อีกด้วย
ด้าน กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ประธาน กมธ. ได้ทดลองการประชุม ผ่าน Video Conference ครั้งแรกในช่วงไวรัสโควิด-19 มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมชมการทดสอบระบบการประชุมออนไลน์ ในครั้งนี้ด้วย ระหว่างการประชุมมี มี กมธ. 2 คนแยกอยู่คนละห้องจากห้องประชุมใหญ่ และมีอย่างน้อย 4 คนอยู่บ้านพักที่ต่างจังหวัดทั้ง พระนครศรีอยุธยา, หนองคาย,ขอนแก่น และชุมพร รวมถึงมีตัวแทนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมประชุมออนไลน์ด้วย
สำหรับการทดลองประชุมออนไลน์ มีปัญหาเล็กน้อยโดยเฉพาะสัญญาณที่ติดขัดและขาดหายไปหลายช่วงและต้องทบทวนคำถามหรือถ้อยคำที่สื่อสารกันบ่อยครั้ง รวมถึงบางคนแสดงให้เห็นชัดเจนว่ายังไม่เชียวชาญในการใช้ Video Conference ในการประชุม สังเกตได้จากมุมกล้องที่เห็นหน้าไม่ชัด การใช้สลับใช้กล้องด้านหน้าและด้านหลังของโทรศัพท์มือถือ ตลอดจนเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมและบุคคลในครอบครัว
นายชวน กล่าวถึงข้อเสนอเลื่อนสมัยประชุมสามัญที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมรับมือเหตุระบาดโควิด-19 คงไม่สามารถทำได้เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเมื่อเปิดสมัยประชุมแล้วจะมีการงดประชุมหรือไม่ก็ต้องพิจารณาอีกครั้งเมื่อเวลานั้นมาถึง รวมถึงมาตรการในการป้องกัน