คุยกันเรื่องการแคสต์ 'เจ้าหญิงดิสนีย์' ด้วยหลักการบอดสีแบบที่ใช้ในละครเวทีมานาน
ปีนี้และปีหน้าเป็นปีที่คึกคักทีเดียวสำหรับดิสนีย์ นอกเหนือจากการเปิดตัวบริการสตรีมมิงของตัวเองแล้ว ยังมีผลงานเข้าโรงจอใหญ่ที่ทั้งกวาดรายได้ไปแล้ว และเตรียมกวาดรายได้อีกมาก เช่น Aladdin ที่เพิ่งทำรายได้ผ่านหลัก 900 ล้านดอลลาร์ และ Toy Story 4 ที่เพิ่งทำรายได้ผ่านหลัก 600 ล้านดอลลาร์ แถมยังมี The Lion King ที่รอจ่อเข้าโรงในช่วงกลายเดือนนี้อีก เรียกได้ว่า 'โมเมนตัม' ของดิสนีย์ถือว่าดีอย่างฉุดไม่อยู่ทีเดียว
ล่าสุด ดิสนีย์เพิ่งปล่อยตัวอย่างแรกจากภาพยนตร์ Mulan เวอร์ชันคนแสดง ซึ่งมีซูเปอร์สตาร์จีนที่พูดได้คล่องแคล่วทั้งภาษาจีนกลางและอังกฤษอย่าง หลิวอี้เฟย รับบทนำ แต่ Mulan คงไม่สามารถสร้างเฮดไลน์หรือทำให้คนพูดถึงไปได้มากกว่าข่าวการแคสต์นักแสดงนำของเรื่อง Little Mermaid ภาคคนแสดง ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของดิสนีย์ กับการแคสต์นักแสดงไม่ตรงชาติพันธุ์กับการ์ตูน ทำให้แฟน ๆ นางเงือกน้อยส่วนหนึ่งไม่พอใจ พร้อมกันนี้ยังเกิดกระแส 'ไม่พอใจคนที่ไม่พอใจ' และมีการตราหน้ากันว่าความไม่พอใจแคสต์นั้นคือ 'การเหยียดสีผิว'
ทั้งนี้ ดิสนีย์ประกาศสร้าง The Little Mermaid ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2016 ต่อเนื่องจากความสำเร็จของ Cinderella และ The Jungle Book ในช่วง 2 ปีก่อนหน้า จนกระทั่งปลายปี 2017 จึงได้ตัวผู้กำกับ ร็อบ มาร์แชล ที่เคยฝากผลงานไว้กับ Chicago , Memoirs of a Geisha , Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides , Into the Woods และ Mary Poppins Returns มารับหน้าที่กำกับ
ขณะที่ สัปดาห์ก่อนมีการประกาศรายชื่อนักแสดงของโปรเจกต์นี้ ไล่มาตั้งแต่ เมลิสซา แม็กคาร์ธี กับบท เออร์ซูลา และน้องหนู เจค็อบ เทรมเบลย์ มาพากย์เสียง ฟลาวน์เดอร์ ส่วนบทนำของเรื่องตกเป็นของ แฮลลี เบลีย์ นักร้องผิวสีวัย 19 ปี จากวงดูโอ้พี่น้อง Chloe X Halle ถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหญิงดิสนีย์ภาคคนแสดงมีรูปลักษณ์ไม่ตรงตามตัวละครในการ์ตูน ทำให้เกิดเป็นกระแสต่อต้านจากแฟน ๆ ที่ยึดติดกับภาพจำวัยเด็ก ขณะที่ ฝ่ายที่เชียร์สาวผิวสีให้รับบทนี้ ก็ให้เหตุผลว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่ใครเล่นเป็นใครก็ได้ และการแคสต์แบบ 'บอดสี' นั้นเหมาะสมแล้ว
การแคสต์บอดสี หรือ Color-blind Casting คือการคัดเลือกนักแสดงไม่ตรงกับชาติพันธุ์ สีผิว รูปร่าง หรือเพศสภาพของตัวละครตามบท เป็นที่นิยมและยึดถือกันมานานในวงการละคนเวที แต่สำหรับผลงานทางโทรทัศน์และภาพยนตร์เข้าโรงแล้ว การแคสต์ในลักษณะนี้ ในแบบที่บทดั้งเดิมเป็นคนขาว ยังถือว่าน้อย และเรียกคำวิจารณ์เชิงลบได้มากกว่า ในวงกว้างกว่า แต่ความไม่พอใจกับการแคสต์ไม่ตรงชาติพันธุ์ไม่ควรนำไปสู่การตราหน้าในประเด็นเหยียดสีผิว และควรเป็นการตั้งคำถามกลับไปยังดิสนีย์ว่าทำไมจึงใช้หลักการกับการแคสต์ 'เจ้าหญิงดิสนีย์' ทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อน จะเหมาะสมกว่า
เป็นไปได้หรือไม่ว่าความสำเร็จของ Black Panther กับชุมชนคนแอฟริกันอเมริกันและผู้ชมที่ไม่ใช่คนขาวทั่วโลก กับรายได้ทั่วโลก 1,350 ล้านดอลลาร์ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ดิสนีย์ตัดสินใจเช่นนี้ คล้ายกับการแคสต์ หลิวอี้เฟย มารับบท มู่หลาน ทั้งที่เจ้าหญิงภาคแสดงคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้อยู่ในระดับซูเปอร์สตาร์มีแฟน ๆ ร้อยล้านคนเช่นนี้ เท่ากับว่าแผนการแคสต์นักแสดงของดิสนีย์อาจไม่เคยจำกัดวงอยู่แค่กับประเด็นทางสังคม เช่นความหลากหลายด้านสีผิวและเพศสภาพ แต่กลับเป็นกลไกทางการตลาดที่ต้องการดึงดูด 'ฐานแฟนคลับ' กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นหลักมาโดยตลอด
ถึงเป็นเช่นนั้น หลักการบอดสีที่ว่าคุ้มค่าหรือไม่กับการถกเถียงอย่างที่เป็นอยู่ และความรู้สึกของผู้ชม เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกครั้งที่มีการแคสต์แบบนี้ ผู้ชมจะรู้สึก 'ผิดแปลก' หรือไม่ชินกับการรับชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบทบาทที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำอย่างเจ้าหญิงแอเรียล ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งหมดนี้คุ้มค่ากรือไม่กับการทำให้เกิดภาวะ 'ยิ่งกว่าถกเถียง' และเกิดเป็นการตราหน้าผู้อื่นในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็น
สุดท้ายแล้ว ถ้าดิสนีย์ต้องการชูหลักการแคสต์อย่างบอดสีจริง ควรต้องทำเช่นนี้กับทุกผลงานหรือไม่ และที่สุดแล้ว 'หัวใจของแฟน ๆ' ก็ควรเป็นปัจจัยที่บริษัทนำไปใช้ในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่อิงแต่หลักการหรือการตลาดเพียงอย่างเดียว