ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเมียนมา ยืนยัน ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่คนเดียว โฆษกฯ ชี้ 'อาหารการกิน-วิถีชีวิต' ช่วยป้องกันประชากรไม่ให้ติดเชื้อ แต่ 'กต.อังกฤษ' กลับประกาศเตือนชาวอังกฤษในเมียนมา ถ้ามีโอกาสให้รีบ 'กลับประเทศ'

กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ประกาศเตือนชาวอังกฤษในเมียนมาให้เดินทางกลับประเทศโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยระบุว่าการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโรคโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในเมียนมา ไม่มีอุปกรณ์การแพทย์เพียงพอ นอกจากนี้ เที่ยวบินต่างๆ รวมถึงเส้นทางบินในเมียนมาอาจถูกยกเลิกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หากพลเมืองอังกฤษในเมียนมาสามารถกลับประเทศได้ ก็ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ส่วนเจ้าหน้าที่การทูตและครอบครัวของสถานทูตอังกฤษประจำเมียนมา ได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับประเทศตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.2563 เป็นต้นไป แต่ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถานกงสุลในเมียนมา จะยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนกว่าจะได้รับคำสั่งเป็นอย่างอื่น พร้อมย้ำด้วยว่า พลเมืองอังกฤษต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อออกจากเมียนมาด้วยตนเอง เพราะรัฐบาลจะช่วยเหลือหรือจัดหาวิธีเดินทางกลับประเทศให้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ อิตาลี อิหร่าน ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี จะต้องถูกกักตัวเพื่อรอดูอาการ 14 วันก่อนเข้าประเทศเมียนมา แต่ผู้เดินทางหรือมีประวัติเคยพำนักอาศัยอยู่ในจีนและเกาหลีใต้ในระยะเวลา 14 วันก่อนหน้า จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ

อองซานซูจี-ซูจีหน้าตรง-Suu Kyi.jpg
  • อองซาน ซูจี รมว.ต่างประเทศเมียนมา ยืนยันว่าไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ

ขณะที่ The Guardian สื่ออังกฤษ รายงานอ้างอิงคำแถลงของ 'อองซาน ซูจี' มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ซึ่งยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเลยแม้แต่คนเดียว

ทางด้าน 'ซอว์ เตย์' โฆษกรัฐบาลของเมียนมา แถลงผ่านสื่อในประเทศว่า วิถีชีวิตประจำวัน และอาหารการกินของชาวเมียนมา ช่วยป้องกันไม่ให้พลเมืองติดเชื้อโรคต่างๆ และการใช้เงินสดแทนการใช้บัตรเครดิตก็ช่วยลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายในสังคม แต่สื่ออังกฤษระบุว่า โฆษกรัฐบาลเมียนมา ไม่ได้อ้างอิงผลวิจัยใดๆ รองรับคำแถลงเรื่องอาหารการกินหรือการใช้เงินสดว่าสามารถลดความเสี่ยงเรื่องโรคติดต่อได้จริง

ส่วน 'ฟิล โรเบิร์ตสัน' รองผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ประจำเอเชีย เผยแพร่บทความวิจารณ์คำประกาศของรัฐบาลเมียนมาเรื่องโรคโควิด-19 ว่า เป็นแถลงการณ์ที่ไร้ความรับผิดชอบ ขัดแย้งกับความเป็นจริงต่างๆ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยแบบลวงๆ ทำให้ประชากรเมียนมาต้องเสี่ยงกับโรคระบาดและการติดเชื้อ

AFP-ตำรวจอิตาลี ปิดเมือง ปิดประเทศ ตรวจคนเดินทาง ป้องกันโควิด-19 ไวรัสโคโรนา รถเฟียต FIAT.jpg
  • อิตาลีประกาศ 'ล็อกดาวน์' หรือ 'ปิดตาย' เพื่อควบคุมโควิด-19 ทั่วประเทศ

ขณะที่เว็บไซต์ worldometer รายงานสถิติผู้เสียชีวิตและติดเชื้อจากโรคโควิด-19 ทั่วโลก เมื่อ 18 มี.ค.2563 มีจำนวนทั้งหมด 198,412 ราย และผู้เสียชีวิต 7,984 ราย ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนอยู่ที่ 80,894 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 3,237 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พบใหม่ในแต่ละวันของจีนมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มไม่ถึง 50 รายต่อวัน แต่สถานการณ์ในยุโรปและอีกหลายประเทศ 'สวนทาง' กับสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน

'อิตาลี' ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุโรป พบผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน คือ 31,506 ราย ผู้เสียชีวิต 2,503 ราย ตามด้วยอิหร่าน สเปน เยอรมนี ซึ่งกรณีของเยอรมนีตรวจพบผู้ติดเชื้อ 'แซงหน้า' เกาหลีใต้ไปแล้ว ทำให้เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยังเพิ่มขึ้นอีก

ขณะที่สถิติผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้ไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดมาหลายวันแล้ว โดยคงอยู่ที่ตัวเลขประมาณ 100 ถึง 200 ราย และก่อนหน้านี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ระบุว่า สถานการณ์ในประเทศของตัวเองได้พ้นภาวะวิกฤตไปแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: