ประเทศแถบยุโรป บางส่วนได้เริ่มการผ่อนผันมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ได้แก่ ออสเตรีย, เบลเยียม, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เยอรมนี, อิตาลี, นอร์เวย์, สเปน, โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรัฐบาลส่วนใหญ่ต่างผ่อนผันให้กิจการที่จำเป็นกลับมาเปิดให้บริการได้ แต่ยังคงควบคุมการเดินทางเข้าและออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางบก หรือทางเรือ
กรณีของ 'สเปน' และ 'อิตาลี' ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา เริ่มผ่อนผันมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 20 และ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว เช่น ร้านซักรีด ร้านตัดผม และร้านเสื้อผ้าของใช้สำหรับเด็ก
ส่วนธุรกิจอื่นๆ จะมีประกาศแจ้งอีกครั้งเมื่อรัฐบาลทั้งสองประเทศพิจารณายุติมาตรการล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการในเดือน พ.ค. ที่จะถึง
ส่วนประเทศ 'เยอรมนี' ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 148,000 ราย หรือมากเป็นอันดับ 5 ของโลก อนุญาตให้เปิดโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์และกิจการฮาร์ดแวร์ได้แล้ว เพราะถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญของประเทศ แต่รัฐบาลยังยืนยันมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing สั่งห้ามการรวมตัวของกลุ่มคน และยังปิดโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต่อไปจนถึงวันที่ 3 พ.ค.
ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีบางประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ได้แก่ 'แอฟริกาใต้' และ 'เวียดนาม' แต่ทั้งสองประเทศยังคงยืนยันว่าจะต้องใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคมต่อไป โดยออกคำสั่งขอความร่วมมือประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน และผู้ที่มีอาการป่วยหรือมีไข้ก็จะต้องกักตัวเองในที่พักต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสกลับมาแพร่ระบาดอีกระลอก
โดยกรณีของ 'เวียดนาม' ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเช่นเดียวกับไทย ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 เพราะถึงแม้ว่าจะมีชายแดนติดกับจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรค แต่จนถึงตอนนี้เวียดนามก็สามารถคุมจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไม่ให้เกิน 300 รายได้ และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่ม แม้อัตราการตรวจคัดกรองจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่ออยู่บ้างว่าการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อนั้นถูกควบคุมดูแลโดยรัฐบาลมากจนเกินไป
การผ่อนผันมาตรการล็อกดาวน์ของเวียดนามใช้วิธีมอบอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นพิจารณาเป็นกรณีไปว่า ธุรกิจใดที่สมควรได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงต่ำจะเริ่มทยอยเปิดกิจการหลายอย่าง เแต่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อยังคงห้ามดำเนินกิจกรรมทุกอย่างต่อไปอีกระยะ
ส่วนความเคลื่อนไหวใน 'สหรัฐอเมริกา' ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกขณะนี้ มีการรวมตัวชุมนุมต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมืองทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เป็นคนหนึ่งที่แสดงความเห็นสนับสนุนการปลดมาตรการล็อกดาวน์ แต่ผู้ว่าการรัฐต่างๆ โดยเฉพาะนิวยอร์ก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อกดาวน์ในตอนนี้ แต่ก็ยอมรับว่า อาจจะต้องผ่อนผันให้กิจการบางประเภทกลับมาดำเนินการต่อได้
ขณะที่ ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO แถลงเตือนในการประชุมที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เร็วเกินไป "มีความเสี่ยงสูง" ที่จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ใหม่
ทั้งนี้ WHO เตือนว่าทุกประเทศจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง และต้องขอความร่วมมือให้คนในสังคมปฏิบัติตามมาตรการรักษาความสะอาดและเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดแม้การแพร่ระบาดจะพ้นภาวะวิกฤตไปแล้วก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: