เว็บไซต์ The Atlantic เผยแพร่บทความอ้างอิง 'แคลร์ เวนนัม' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณสุขของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ 'โควิด-19' ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกัน
บทความของดิแอตแลนติกอ้างถึงข้อมูลสถิติในประเทศอิตาลี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากเป็นอันดับ 1 ของโลก อ้างอิงข้อมูลเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563 พบว่าผู้ชายได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากโรคนี้มากกว่าผู้หญิง โดย 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดเป็นผู้ชาย และ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด "เป็นผู้ชาย" เช่นกัน
ขณะที่ The Washington Post รายงานว่า ประชากรชายในประเทศที่พบการติดเชื้อ 'โควิด-19' สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ จีน อิตาลี และเกาหลีใต้ มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว เพราะผู้ชายในประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่า เช่น สูบบุหรี่และดื่มเหล้าเป็นประจำ แต่กรณีของเกาหลีใต้แตกต่างไปบ้าง เพราะผู้ติดเชื้อกว่า 61 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง แต่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คิดเป็น 54 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด
นอกจากนี้ เวนนัมยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า วิกฤตโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะสุขภาพและระบบสาธารณสุข แต่ถือเป็น 'วิกฤตเศรษฐกิจ' ที่จะส่งผลระยะยาวเช่นกัน เพราะมาตรการต่างๆ ที่ออกมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปิดเมือง ปิดประเทศ และระงับกิจการต่างๆ ชั่วคราว ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปจนถึงหยุดชะงัก ทั้งยังจะทำให้คนเสียรายได้และถูกจำกัดเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานด้วย
ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประชากรกลุ่มต่างๆ จะพบว่า 'โควิด-19' ทำให้ผู้หญิงเดือดร้อนในระยะยาวมากกว่าผู้ชาย เพราะกรณีที่บริษัทต้องปลดหรือปรับลดจำนวนพนักงานเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ผู้หญิงมักเป็นคนกลุ่มแรกที่จะถูกพิจารณาให้ออก โดยเป็นการอ้างอิงข้อมูลการเกิดโรคระบาดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส ไข้หวัดนก โรคเมอร์ส และไข้เลือดออกอีโบลา พบว่าผู้หญิงในหลายประเทศได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชาย และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมยิ่งกว่าเดิม
ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย บริษัทหรือนายจ้างอาจพิจารณารับพนักงานเก่ากลับเข้าไปทำงาน แต่ในหลายประเทศ ผู้หญิงมักถูกรับกลับเข้าทำงานน้อยกว่าผู้ชาย และ The Guardian รายงานว่า กรณีที่มีมาตรการปิดโรงเรียน-ปิดสถานดูแลเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มของผู้คน แต่ละครอบครัวต้องนำบุตรหลานกลับมาดูแลด้วยตัวเอง ทำให้ผู้หญิงต้องรับภาระด้านนี้เพิ่มเติมจากงานประจำในแต่ละวัน เช่น ภาระงานบ้าน งานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงงานที่ต้องจากบ้านทำแบบ work from home หรือถ้าจะมีผู้ชายที่แบ่งเบาภาระได้บ้าง ก็เป็นส่วนน้อยของสังคมเท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐบาลแคนาดาและสหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับแก้ข้อปฏิบัติทางการแพทย์กรณีทำคลอดในช่วงที่เกิดโรคระบาด โดยเว็บไซต์ Daily Beast สื่อของสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลนอาจมีคำสั่งห้ามสมาชิกครอบครัวหรือสามีเข้าไปในห้องคลอดในบางรัฐ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อ แต่สมาคมผดุงครรภ์ในสหรัฐฯ ระบุว่า มาตรการนี้จะกระทบต่อสภาวะจิตใจและสิทธิของแม่เด็ก เพราะมีกฎหมายข้อหนึ่งของสหรัฐฯ ที่รับรองสิทธิการคลอดในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย และสิทธิที่จะมีผู้ร่วมสังเกตการณ์หรือให้กำลังใจในขณะคลอด
ส่วนเว็บไซต์ CBC รายงานว่าแม่เด็กใกล้คลอดจำนวนหนึ่งในแคนาดา เข้าใจถึงความจำเป็นของมาตรการนี้ และระบุว่า พร้อมจะปฏิบัติตามมาตรการทำคลอดในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ก็ยอมรับว่า การคลอดแบบนี้มีผลต่อสภาพจิดใจเหมือนกัน เพราะแทนที่การคลอดลูกจะเป็นเรื่องน่ายินดี มีการรวมตัวของสมาชิกในครอบครัว ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นการเฟซไทม์คุยกันกับปู่ย่าตายายของลูกแทน
ขณะที่สมาคมผดุงครรภ์เตือนว่า มาตรการแบบนี้อาจทำให้คนตัดสินใจคลอดด้วยตัวเอง หรืออาจจะหันไปใช้บริการผดุงครรภ์แทนการไปโรงพยาบาล แต่ถ้าเลือกวิธีนี้อาจจะทำให้อัตราการตายแรกคลอดในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เพราะการเตรียมตัวคลอดอาจไม่พร้อมเท่ากับที่โรงพยาบาล
กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ต้องผ่าคลอด อาจไม่ทันเวลา เป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก ซึ่งการที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและอนามัยของผู้คนในสังคมเช่นกัน แต่กรณีนี้ดูเหมือนว่าผู้หญิงจะได้รับผลกระทบทางจิตใจและทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: