ไม่พบผลการค้นหา
บลูมเบิร์ก ชี้มาตรการสกัด 'โควิด-19' กระทบเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางเลี่ยง แนะ รบ.ป้องกันเชิงรุก 'ประชากรกลุ่มเสี่ยง' แต่ไม่ควรปิดโรงงาน-ปิดเมืองเหมือนจีน ส่วน 'ดิอินดีเพนเดนต์' ชี้ ขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน หลังจีนผนึกรัสเซีย

บทความของบลูมเบิร์ก You Can’t Fight the Virus Without Harming the Economy เตือนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเตรียมความพร้อมรับมือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ที่จะกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนในประเทศระยะยาว จากมาตรการป้องกันและควบคุม 'โควิด-19' ซึ่งแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 31 ราย และผู้ติดเชื้ออีกหลายร้อยคน อีกทั้งตัวเลขจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เนื้อหาในบทความบลูมเบิร์กระบุชัดเจนว่า การกักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ การควบคุมการเดินทางเข้าและออกประเทศ การปิดร้านค้าหรือธุรกิจต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยง รวมถึงการที่ประชาชนพร้อมใจกันกักตัวเองในที่พักอาศัย จะทำให้การจับจ่ายภายในประเทศเข้าขั้นย่ำแย่ในไม่ช้า สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

บลูมเบิร์กยกตัวอย่างรัฐบาลจีนที่ใช้มาตรการปิดเมือง ปิดโรงงาน และสั่งห้ามการเดินทางเข้าออกพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือว่าได้ผลในการควบคุมและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ แต่ก็เป็นหนึ่งในมาตรการสุดโต่ง และจีนสามารถทำได้เพราะเป็นรัฐบาลที่ยึดกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งยังมีเทคโนโลยีที่สอดส่องกำกับดูแลประชากรอย่างเข้มงวด ขณะที่สหรัฐฯ ทำแบบจีนไม่ได้ และไม่ควรทำด้วย 

สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน คือ มาตรการป้องกันเชิงรุกแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ และภาคเอกชนต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน เช่น เปลี่ยนไปทำงานจากที่บ้าน ในกรณีที่ทำได้ หรือเสนอให้พนักงานหยุดงานโดยสมัครใจ แต่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ควรปิด จึงต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่เพียงพอต่อพนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนต์ เผยแพร่บทความชื่อ Coronavirus will bankrupt more people than it kills — and that's the real global emergency ซึ่งระบุว่า ไวรัสโคโรนาจะทำให้คนล้มละลายมากกว่าจะทำให้คนตายจริงๆ และสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็น 'ภาวะฉุกเฉินระดับโลกของจริง' 

ดิอินดีเพนเดนต์เตือนรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยว่า จะต้องพิจารณานโยบายเศรษฐกิจโดยมองข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่า ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลง หลังจากที่จีนกับสหรัฐฯ ทำสงครามการค้า จีนหันไปผนึกกำลังกับรัสเซีย

ล่าสุด รัฐบาลรัสเซียปฎิเสธการลดกำลังการผลิตน้ำมัน สวนทางข้อเสนอของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันโอเปก นำไปสู่มาตรการตอบโต้ของซาอุดีฯ ที่สั่งเพิ่มการผลิตเช่นกัน จนราคาน้ำมันผันผวน ส่งผลกระทบไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก

ความผันผวนที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก และคาดว่าสถานการณ์จะดำเนินไปอย่างนี้อีกสักพักใหญ่ๆ สหรัฐฯ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะทำอย่างไรในเวลาที่ประเทศพันธมิตรอย่างซาอุดีฯ เผชิญหน้ารัสเซีย ที่มีจีนเป็นพันธมิตร และโรคโควิด-19 กำลังระบาดใหญ่ ทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: