เครือข่ายประชาชน นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกับ เครือข่าย People Go, คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. เปิดตัวแคมเปญ เข้าชื่อ 50,000 คน #ร่วมรื้อร่วมสร้างร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีความเป็นประชาธิปไตย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมตั้งโต๊ะเปิดให้ประชาชนกรอกเอกสารร่วมลงชื่อ นอกเหนือจากเปิดให้ดาวน์โหลดเอกสารที่เว็บไซต์ของไอลอว์
รื้อ รธน.เพื่อชนชั้นปกครอง
จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ชี้แจงที่มาและความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา คนไทยตกอยู่ใต้ปกครองเผด็จการทหาร ที่คุกคามประชาชนโดยเฉพาะผู้เห็นต่าง ไม่เว้นแม้แต่การคุกคามเยาวชนถึงบ้านพัก ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย ตลอดจนการอุ้มหายนักกิจกรรมการเมืองและผู้ลี้ภัยในต่างประเทศที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อชนชั้นปกครอง และกลุ่มเผด็จการที่ครองอำนาจ ดังนั้นประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่ โดยไอลอว์ได้ชักชวนภาคประชาชนหลายภาคส่วนที่มีความประสงค์เช่นเดียวกัน
ผู้อำนวยการไอลอว์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เครือข่ายดำเนินการนี้คือการล่ารายชื่อ เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขส่วนที่เป็นเผด็จการที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และปลดล็อกเพื่อให้เกิดการแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่ใช่การยกร่าง ส่วนรัฐธรรมนูญใหม่จะมีเนื้อหาหรือหน้าตาอย่างไร เป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศที่ร่วมกันกำหนด พร้อมยืนยันว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยเป็นของประชาชนต้องเกิดขึ้นแน่นอน แม้ต้องผ่านการต่อสู้ด้วยความยากลำบาก
ประชามติอัปยศ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวชี้แจงรายละเอียดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ชวนประชาชนเข้าชื่อ โดยหวังว่า ในสิ้นปีนี้จะได้ครบ 50,000 รายชื่อ แต่อยู่ที่ประชาชนทุกคนที่จะเร่งดำเนินการ เพื่อยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร
เนื่องจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วเป็นวันทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นการทำประชามติที่อัปยศอดสูที่สุด เพราะเป็นประชามติที่ประชาชนไม่มีทางเลือกภายใต้การปกครองอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช.ที่วางกรอบกฎหมายไว้ทุกด้านเพื่อประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจ
ยิ่งชีพ ย้ำถึงข้อเสนอทางกฎหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เริ่มจากการรื้ออำนาจของระบอบ คสช.ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยสร้างทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน พร้อมมีข้อเสนอ "5 ยกเลิก 5 แก้ไข" โดย "5 ยกเลิก" ประกอบด้วย
1.ยกเลิกช่องทางนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้
2.ยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปีของ คสช.
3.ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศของ คสช.
4.ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องเขตปกครองพิเศษ ที่ผู้บริหารไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
5.ยกเลิกมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ ที่รับรองความชอบของประกาศและคำสั่ง คสช.หรือยกเลิกการนิรโทษกรรมตนเองของ คสช.
ส่วน "5 แก้ไข" ประกอบด้วย
1.แก้ไขระบบบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนด โดยแก้ไขให้กำหนดชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส
2.แก้ไขที่มาของส.ว.จากระบบคัดเลือกแต่งตั้งโดยกลุ่มบุคคลให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2540
3.แก้ไของค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กก.และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์การอิสระพ้นจากตำแหน่งทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้และให้มีกระบวนการสรรหาใหม่ตามระบบในรัฐธรรมนูญ 2540
4.แก้ไขมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกับระบบใดรัฐธรรมนูญ 2540
5.แก้ไขให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง มายกร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายประชาชน ร่วมกันแถลงเหตุผลที่ต้องเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต่างยืนยันถึงความไม่ชอบธรรมในการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 และย้ำความจำเป็นที่ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและมาจากประชาชนอย่างแท้จริง โดยบางส่วนเห็นว่า ไม่ควรมี ส.ว.ในระบบการเมืองอีกต่อไป
นอกจากนี้ องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ยังตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนภายในงาน เพื่อยื่นต่อรัฐบาลให้ติดตามความคืบหน้ากรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยถูกอุ้มหายที่กัมพูชาด้วย