ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนคณะอนาคตใหม่ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เห็นพ้องรัฐธรรมนูญมีปัญหาการยอมรับ ทั้งที่มา และเนื้อหา ทั้งยังขาดดุลยภาพทางอำนาจให้อำนาจองค์กรแต่งตั้งมากกว่าองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ตัวแทน พปชร. ชี้ อย่าร่างใหม่ อะไรดีให้เก็บไว้ อะไรไม่ได้ให้แก้ กังวลไทยเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากสุดในโลก

วันที่ 1 มี.ค. 2563 ในรายการ 101 Policy Forum ของเว็บไซต์ 101. World ได้มีการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “แก้รัฐธรรมนูญ ออกแบบสัญญาประชาคมใหม่” โดยมีแขกรับเชิญประกอบด้วย นายวิเชียร ชวลิต ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล คณะอนาคตใหม่ ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์


รัฐธรรมนูญที่ดีในมุมมอง 4 ตัวแทนพรรคการเมือง

นายวิเชียรระบุว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีทั้งฉบับชั่วคราว และฉบับถาวร แต่สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิมคือ หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้ เพราะเป็นต้นแบบรัฐธรรมนูญที่ดี มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ มีความเป็นประชาธิปไตยมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังปี 2540 คือการตั้งองค์กรอิสระขึ้น โดยแยกอำนาจออกมา และส่งเสริมให้อำนาจของฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ทั้งนี้ประเทศไทยก็ได้เลิกใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว และหลายๆ ฉบับที่ผ่านได้ถูกประกาศเลิกใช้ไป มากกว่าที่จะเป็นการแก้ไข จึงต้องการเสนอว่า ประเทศไทยควรหยุดเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เสียที เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุด

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกมองว่ามีที่มาจาก คสช. และเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ แต่จะอย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความใกล้เคียง และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งหลักการและเนื้อหาในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

“ผมอยากให้เรามองว่า เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และเมื่อใช้แล้วมันเกิดปัญหาอะไร เราก็มาพิจารณาปรับแก้ตรงนั้น เพราะเวลามีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คนเขียนก็จะเอาสิ่งที่ตัวเองต้องการใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อใส่ไปแล้วไม่รู้ว่าเมื่อเอาไปใช้จะเกิดปัญหาหรือไม่ เพราะยังไม่เคยใช้มากก่อน ผมเลยอยากเรียกร้องว่า ถ้าเราพิจารณาอะไรที่ไม่ดีเอาออกไป อะไรที่ดีรักษาไว้ เราก็จะเติมส่งที่มันเป็นประโยชน์ และจะได้แก้ปัญหา ไม่ใช่ยกร่างขึ้นมาใหม่” นายวิเชียร กล่าว

ด้านนายชูศักดิ์ มองว่า ถ้าพูดถึงรัฐธรรมนูญที่ดี ส่วนใหญ่คนมักจะมองที่เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร แต่ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมองทั้งเรื่องที่มา และเนื้อหาสาระ ประกอบกัน โดยรัฐธรรมนูญที่ดี จะต้องมีที่มาที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง เพราะประชาชนเป็นเจ้าอำนาจอธิปไตย และในขั้นตอนของการยกร่างจำเป็นต้องรับฟังความเห็นขอวงประชาชน และสุดท้ายเมื่อมีการยกร่างเสร็จแล้วก็ควรที่จะเปิดให้มีการลงประชามติร่าวรัฐธรรมนูญ

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นต้องมีเนื้อหาสาระที่มีความชัดเจนแน่นอน และรัดกุม ไม่เปิดโอกาสให้ความออกไปอย่างกว้างขว้างเหมือนที่ผ่านมา เช่น การเขียนว่า การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเหตุยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความในเรื่องนี้ว่า การที่มีการดำเนินการแก้ไขที่มา ส.ว.ในอดีต เพื่อให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ถ้อยคำเหล่านี้ต้องเขียนให้ชัด เพราะประเทศเราชอบตีความแบบขยายความ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีบทบัญญัติที่ชัดเจน เกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การใดที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดรัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติถึงรูปแบบของรัฐที่ชัดเจน และจัดสมดุลทางอำนาจระหว่างองค์กรทั้งหลายที่ใช้อำนาจรัฐ โดยมีการถ่วงดุลกันและกัน ไม่ใช่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าองค์กรอื่นๆ

นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ปิดทางในการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ควรจะมีบทบัญญัติที่สามารถทำให้แก้ไขได้ตามความต้องการของประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่นี้ไม่มีความเป็นกลาง เพราะมีที่มาจาก คสช. ไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน และมีความจงใจในยการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน และเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีดุลทาวอำนาจเพราะให้อำนาจกับตุลาการมากเกินไป และมีการลดทอนอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบองค์กรอิสระลงไปด้วย 

ด้านนายนิพิฏฐ์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกัน ว่าคน 70 ล้านคนจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และเมื่อมีข้อพิพาทเราจะยุติข้อพิพาทนั้นอย่างไร และประเทศทั่วโลกเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น จะยุติลงได้เมื่อกลับมาที่รัฐธรรมนูญ เช่น กลับมาวางกติกากันใหม่เพื่อให้ความขัดแย้งนั้นยุติ แต่ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่รัฐธรรมนูญกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง เพราะคนไทยมีความคิดที่ไม่ตรงกัน

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ตนเป็นฝ่ายที่ไม่ยอมรัฐธรรมนูญในช่วงที่มีการทำประชามติ แม้ปัจจุบันรัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติมาแล้ว แต่เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างคนที่ยอมรับและไม่ยอม ประกอบกับบรรยากาศในการออกเสียงประชามติ ก็ชัดเจนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญถือเป็นกติกาที่ใช้ร่วมกัน ฉะนั้น คนในสังคมไทยจะต้องมีฉันทามติร่วมกันในเรื่องรัฐธรรมนูญ และการที่จะทำให้คนยอมรับรัฐธรรมนูญร่วมกันได้ก็ต้องเริ่มกระบวนการให้คนยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใหม่


ปิยบุตร ชี้ รธน. 2560 ขาดความชอบธรรม ไม่ได้มาจากประชาชน

ส่วนนายปิยบุตร ระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ดีจะมีองค์ประกอบทั้งหมดห้าประการ หนึ่ง รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องกำเนิดมาจากประชาชน เพราะว่ารากศัพท์ของคำว่ารัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจร่วมกันของประชาชน คือการผสมกันระหว่างคำว่า co กับ institute แปลว่า การก่อตั้งร่วมกัน สอง อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้นในระบบสถาบันการเมืองต่างๆ ต้องแสดงให้เห็นว่า อำนาจที่เชื่อมไปยังประชาชนนั้น มันมีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตยสูง ต้องยืนยันว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงๆ

สาม การแบ่งแยกอำนาจองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ควรทำให้เกิดดุลยภาพ

สี่ เสรีภาพในการแสดงออก เป็นหัวใจสำคัญที้สุดในระบอบประชาธิปไตย การตัดสินใจจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการแสดงออก เพราะเป็นการประกันว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง องค์กรแต่งตั้ง จะถูกคุมด้วยประชาชน ผ่านการแสดงออกและการวิพากษ์วิจารณ์

ห้า รัฐธรรมนูญ เมื่อตราออกไปแล้ว ต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน และการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการรัฐประหารในปี 2557 สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญคือ ให้อำนาจกับองค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง มากกว่าองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ทั้งยังเปิดโอกาสให้วุฒิสภาสามารถออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

“เรื่องดุลยภาพ ทุกท่านก็เห็นแล้วว่าสภาผู้แทนราษฎร เป็นองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีอำนาจน้อยมาก เรียกได้ว่า ถูก ส.ว. ขี่คอ ถูกศาลรัฐธรรมนูญขี่คออยู่ทุกวัน ทั้งๆ ที่เรามาจากการเลือกตั้งเพียงองค์กรเดียว” นายปิยบุตร กล่าว