วันที่ 16 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา สมชาย แสวงการ สว. กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำความเห็นต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกลับมายังรัฐบาล โดยระบุว่า เอกสารดังกล่าวมีความละเอียดครบถ้วนดีทั้ง 58 หน้า และอีก 177 หน้าเป็นภาคผนวกเอกสารสำคัญ เช่น ร่างรายงานของนายกรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา นโยบายหาเสียง ความเห็นของ กกต. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่างๆ รวมถึงข้อกฎหมายหลายมาตรา
สมชาย ย้ำว่า ความเห็นของ ป.ป.ช. เป็นความเห็นที่ต้องรับฟัง เป็นข้อเสนอที่คล้ายกับกรณีโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. ชี้ให้เห็นข้อมูลเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเทียบกับเศรษฐกิจโลก ว่าไม่เป็นวิกฤต โดยอ้างอิงความเห็นจากหน่วยราชการ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ TDRI อดีตผู้ว่า ธปท. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง
สมชาย เสนอว่า คณะกรรมการดิจิตอลวอลเล็ต ควรรอบคอบ ในรายงานอ้างอิงถึงเศรษฐกิจโลก ระบุ คำนิยามของวิกฤติเศรษฐกิจคล้ายกับกฤษฎีกา ว่าวิกฤตเศรษฐกิจหมายความว่าอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินในสภาวะวิกฤต ซึ่งหากรัฐบาลจะถือว่าเป็นวิกฤต แต่มีแล้ว 2 หน่วยงานที่ให้ความเห็นแม้จะไม่ได้ชี้ชัด ว่าไม่เป็นวิกฤต และถ้ามีความเร่งด่วนก็ทำในการออกพระราชกำหนด
สมชาย ยังมองว่า การให้กู้เงิน 1 ครั้งเดียว วันเดียว ไม่ใช่โครงการต่อเนื่อง ใช้วันเดียวจบ แม้จะมีระยะเวลาใช้เงินดิจิทัล 6 เดือนก็ตาม แต่ที่แน่นอนคือใช้หนี้แน่นอน 4-5 ปีต่อเนื่อง ซึ่งไม่น่าเป็นไปตาม พ.ร บ.วินัยการเงินครั้งคลัง ส่วนเรื่องทำงบประมาณไม่ทัน ตามความเห็นของกฤษฎีกาชัดเจนว่า ครม. ปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือน ก.ย. ยังได้ปรับปรุงร่างงบประมาณของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แล้วมีการเพิ่มรายจ่ายเข้าไปอีกแสนกว่าล้าน และเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อเดือน ธ.ค. จึงไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว
สมชาย กล่าวต่อไปว่า ความเป็นของ ป.ป.ช. เป็นข้อเสนออย่างสุภาพ แบบเดียวกับกฤษฎีกา แม้จะไม่ได้เขียนตรงๆ ว่า ไฟแดง ว่าทำไม่ได้ แต่มีข้อเสนอแนะพร้อมสภาพปัญหา หากรับฟังตรงๆ และไม่ดันทุรังต่อ เชื่อว่าคณะกรรมการในส่วนภาครัฐ จะสามารถให้ความเห็นที่ดีกับฝ่ายการเมือง เพื่อทบทวนโครงการ และนำเงิน 5 แสนล้านไปทำโครงการที่ตรงเป้ากว่า ทำได้อีกเป็น 100 โครงการ ถ้ารัฐบาลตั้งใจ
"ผมยังอยากเห็นนายกรัฐมนตรี กลับจากดาวอสแล้ว ไม่ต้องเดินทาง ท่านนั่งโต๊ะประชุมเถอะครับ วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนรอท่านแก้ไข 4 เดือนกว่ายังไม่ปรากฏเลย มันเป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า ลดค่าพลังงาน เป็นการลดภาษีธรรมดา ยังไม่ได้แก้โครงสร้าง" สมชาย กล่าว
สมชาย กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรียังเป็นเซลส์แมนไม่ได้ เพราะยังไม่มีอะไรให้ไปขาย ผ่านมา 4 เดือนยังไม่ได้เกิดเนื้องาน ควรเร่งสร้างให้เห็นผลงานก่อน เหมือนกับสร้างสินค้าให้เสร็จแล้วค่อยไปขาย ตอนนี้ไปขายอยู่ ไม่รู้ขายอะไร ถ้าเป็นเซลส์ก็ขยันเกินไป เราเป็น CEO บริษัท บางอย่างไม่ควรต้องไปขายของเอง บางให้รัฐมนตรีไปก็ได้
ส่วนจากความเห็นของ ป.ป.ช. จะเข้าใจได้เลยหรือไม่ว่าไม่สามารถเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปได้ สมชาย กล่าวว่า ไม่อยากไปฟันธง แต่ต้องอ่าน 2 ความเห็น ซึ่งแนวทางสอดคล้องกัน รัฐบาลก็เลือกได้ว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. ถ้าเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่ง 2 หน่วยงานรวมถึงตนเองต่างก็ยืนยันว่าไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลเอาความมุ่งมั่นมาแก้เศรษฐกิจ เราไปได้ไกลแล้ว
สมชาย ยังเห็นว่า หากรัฐบาลเดินหน้าต่อ ก็จะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวแน่นอน ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. มีความสร้างสรรค์ที่บอกเลยว่าจะเกิดปัญหา ซึ่งหากรัฐบาลดื้อ เอกสารเหล่านี้จะมีความสำคัญในศาล ที่จะมัดตัวรัฐมนตรีหรือข้าราชการประจำอาจจะติดคุกติดตารางในอนาคต
"ผมไม่ได้มาขัดขวาง เพียงแต่ว่า หวังดีอยากเรียกร้องให้รัฐบาลบอกประชาชนว่าทำไม่ได้ แล้วทำเรื่องอื่นเลย รีบๆ ทำ แล้วเอาสติปัญญาทั้งหมดมาทำเรื่องอื่น จะเอาใจช่วยให้เศรษฐกิจปากท้องที่กำลังลำบากได้แก้ไขสักที เพราะมามัวเสียเวลาเรื่องนี้เยอะไปแล้ว" สมชาย กล่าว
สมชาย ยังยืนยันว่า ในชั้นวุฒิสภาจะแก้ไขตามข้อเสนอแนะ คือนำเงิน 5 แสนล้านบาทไปทำประโยชน์ ให้กลุ่มเปราะบาง 1.5 แสน เงินที่เหลือไปทำอย่างอื่น ถ้ารัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งกระบวนการอาจไม่เสร็จในปีนี้ แล้วให้ประชาชนรอทำไม
"วันนี้ไปถามเด็กสิ เด็กเขาบอกคำขวัญวันเด็ก 'กู้วันนี้ ให้เด็กจ่ายวันหน้า' ทำทำไม เหมือนเรากู้เงินมากินเหล้า ใช้เงิน 1 วันแล้วที่เหลือใช้หนี้ ไม่มีประโยชน์ ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวเลข 0.4-0.6 ทั้งสภาพัฒน์ TDRI ธปท. ตรงกันหมด แล้วปี 2568 จะดิ่งหัวลง สนุกวันเดียว ทุกข์วันหน้าจะทำทำไม ผมว่าบอกความจริงให้ประชาชน มีข้อแลกเปลี่ยน บอกเลยว่า ไม่ทำอันนี้ แต่จะทำอีกร้อยเรื่องที่ดีกว่านี้ ผมว่าประชาชนเอานะ" สมชาย กล่าว