จากนั้นก็อลเวงรับลูกกันหลายส่วนเชียร์ประวิตรนั่งตำแหน่งนายก หลักๆ มีอยู่ 2 ทางคือ เป็น ‘รักษาการนายก’ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปม 8 ปีให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง หรือไม่ก็เป็น ‘นายกตัวจริง’ ผ่านช่อง ‘นายกคนนอก’ ตามที่รัฐธรรมนูญ2560 กำหนด แต่ทั้ง 2 อย่างนี้ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะในเชิงที่มา-อำนาจ-ความยากง่ายของความเป็นไปได้
1.มีอำนาจจำกัด : กฎหมายกำหนดอำนาจไว้แค่ “อำนวยความสะดวกแก่หัวหน้าส่วนราชการใดๆ ดำเนินการเท่าที่จำเป็น”
2.กำหนดไว้แล้วว่าใคร : คำนั่งนายกที่ 237/2563 ระบุให้รองนายกที่จะขึ้นเป็นนายกรักษาการมี 6 ลำดับ ได้แก่ ประวิตร วงษ์สุวรรณ /วิษณุ เครืองาม /อนุทิน ชาญวีรกูล /จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ /ดอน ปรมัตถ์วินัย /สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
3.ไม่กำหนดเวลา : รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดว่าต้องรักษาการนานเท่าไร แต่อายุรัฐบาลตอนนี้ก็เหลืออยู่ราว 10 เดือน
เรื่องนี้ณัชปกร นามเมือง จากไอลอว์ อธิบายว่า ในรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นกำหนดไว้แน่นอนว่า ถ้านายกพ้นจากตำแหน่ง ต้องสรรหานายกใหม่โดยความเห็นชอบของรัฐสภาภายใน 30 วัน แปลว่า นายกรักษาการก็มีอายุเพียง 30 วัน แต่สิ่งนี้ไม่มีกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560
“เข้าใจว่าที่ไม่ใส่มา เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจาก คสช. มาเป็น ครม. ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ไปล็อคเวลาไว้ คสช. ก็จะต้องหายไปเร็ว เขาอยากอยู่ยาว มันจึงส่งผลต่อเนื่องมาว่า สภาจะหานายกคนใหม่ภายในเมื่อไรก็ได้ เป็นการบีบพรรคร่วมให้ยอมตาม เพราะปัจจัยชี้ขาดนายก มันอยู่ในมือ ส.ว.250 คน อยู่แล้ว” ณัชปกรกล่าว
4. ไม่ต้องอาศัยการโหวตของ ส.ส.และ ส.ว. เพราะเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
เรื่องนี้บรรจุอยู่ในมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560
ทั้งนี้ หลัก ‘นายกต้องมาจากส.ส.’ กำหนดครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ก่อนรัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา จากนั้นรัฐธรรมนูญ 2521 ได้มีบทบัญญัติที่เปิดทางให้มี ‘นายกคนนอก’ อีกครั้ง เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2534 จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 จึงมีการแก้ไขเรื่องนี้ นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ไม่มีเรื่องนายกฯ คนนอก แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่มี กลับมามีอีกครั้งในฉบับปัจจุบัน
มาตรา 272 วรรคสอง ระบุว่า
1.ส.ส.-ส.ว. (เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา) เสนอประธานสภาให้โหวตนายกนอกบัญชีรายชื่อได้
2.ส.ส.-ส.ว. (เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา) ลงมติเห็นชอบให้โหวตเลือกนายกนอกบัญชีรายชื่อได้ โดยผู้มีสิทธิเสนอชื่อนายกมาจาก ส.ส.เท่านั้น
หลายคนอาจจำไม่ได้แล้วว่า เส้นทางบทบาท ส.ว.ที่มีสิทธิโหวตได้ ทั้ง ‘นายกตามบัญชีรายชื่อ-นายกคนนอก’ เป็นมาอย่างไร อันที่จริงแล้วร่างรัฐธรรมนูญของมีชัย ฤชุพันธ์ ไม่ได้กำหนดไว้อย่างนี้ และมันถูกเปลี่ยนแปลงจากทั้งคำถามพ่วงและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ 1 ร่างมีชัยให้ ‘เฉพาะ ส.ส.’ โหวตเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อ แต่สุดท้ายมีการปรับแก้ตาม 'คำถามพ่วง' ที่ทำประชามติพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย
คำถามพ่วงนี้นำเสนอโดย วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็โหวตรับ
"ศักดิ์และสิทธิของสมาชิกทั้ง 2 สภาจะต้องเท่ากัน ด้วยการกำหนดให้ ส.ส.และส.ว. มีอำนาจเสนอและลงมติเลือกนายกฯ ซึ่งแนวทางนี้ ไม่ได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับสภาใดสภาหนึ่ง แต่มอบอำนาจให้ทั้ง 2 สภา ร่วมกันพิจารณาถ่ายโอนอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านให้ราบรื่น เป็นชะตาร่วมกันของประเทศ ไม่ปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยแบบสากล แต่ก็ไม่ให้เป็นเผด็จการอย่างเต็มที่" วันชัย กล่าวไว้เมื่อ 2 มี.ค.2016
คำถามพ่วงคราวนั้น ใครจำได้บ้าง? เฉลย:
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
เมื่อคำถามพ่วงผ่านประชามติ จึงมีการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้
ประเด็นที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย กำหนดการโหวตเลือกนายกคนนอกไว้แตกต่างจากปัจจุบัน แต่มันถูกเปลี่ยนเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ต้องกลับไปปรับแก้ใหม่จนมีหน้าตาแบบปัจจุบัน
-เดิมร่างมีชัยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ‘ส.ส.เท่านั้น’ ที่มีอำนาจริเริ่มเสนอชื่อนายกคนนอก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงของประชามติ จึงต้องให้การเริ่มตัดสินใจว่าจะมีนายกคนนอกหรือไม่ เป็นหน้าที่ของ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.
-เดิมร่างมีชัยกำหนดให้เลือกนายกคนนอกได้เพียงครั้งเดียวในวาระเริ่มแรกหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกเท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนเป็น จะเลือกนายกคนนอกกี่คนก็ได้ ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก (รัฐบาลอย่างน้อย 2 ชุด)
1.การโหวตเปิดทางให้มีนายกคนนอก (เนื่องจากหานายกในบัญชีรายชื่อไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม) จะใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา นั่นคือ 363 เสียง
2.ส่วนการโหวตเลือกนายกคนนอก ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภา นั่นคือ 484 เสียง
สถานการณ์ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลมี 268 + ส.ว.250 = 518 เสียง
แต่เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ อีกทั้ง ส.ว.250 คนก็มีการประเมินกันว่าขั้วที่เอา พล.อ.ประยุทธ์ก็มีไม่น้อย และมีส่วนที่สวิงไปมาได้อีก 20-30 เสียง
เกมนายกคนนอกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย