จากอิทธิฝนของพายุ “โพดุล” ทำให้ฝนฟ้ากระหน่ำตกอย่างหนักตลอดทั้งคืนหลายพื้นที่ใน จ.กาฬสินธุ์ ส่งผลให้บ้านเรือนเกิดความเสียหาย ต้นไม้หักโค่น และน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเกิดพายุฝนลมแรงทั้งคืนครอบคลุมหลายตำบล โดยความแรงของพายุฤดูที่มีลักษณะพัดหมุน ได้พัดอาคารบ้านเรือนของราษฎรใน อ.หนองกุงศรีได้รับความเสียหายหลายหลังคาเรือน และมีสถานที่ราชการ วัด ปั้มน้ำมัน รวมทั้งสถานศึกษาเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่แรงลมได้พัดพาหลังคาสังกะสี ผนังบ้านปลิวหายไปทั้งแถบ นอกจากนี้ยังพบว่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มทับสายไฟฟ้าขาด ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างอีกด้วย
ด้าน ร.ต.อ.วีระ ภูทองนาค นายกเทศมนตรีตำบลหนองกุงศรี กล่าวว่า หลังจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของเทศบาล ดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดเวลา ช่วงเช้ามืดวันนี้ ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าบ้านเรือนประชาชนพังเสียหายหลายหลังในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลหนองกุงศรี โดยเฉพาะหมู่บ้านโนนศิลา และบ้านสะอาดนาดี ต.หนองกุงศรี คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 100 หลังคาเรือน เบื้องต้นจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าจากอิทธิพลพายุฝนที่ตกหนักตลอดทั้งคืนและช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก จากป่าดงระแนงเข้าท่วมนาข้าว ถนนถูกตัดขาด บ่อกุ้งของประชาชนในเขตพื้นที่ อ.ยางตลาด อ.ห้วยเม็กเสียหายจำนวนมาก นอกจากนี้ยังปริมาณน้ำฝนที่สะสมยังทำให้มีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขาภูพานทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของประชาชนในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ อ.เขาวง อ.นาคู อ.ห้วยผึ้ง อ.สมเด็จ ผ่านส่งผลกระทบต่อไปยังพื้นที่ อ.นามน และอ.ดอนจานอีกหลายพันไร่ ซึ่งกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวยังได้พัดถนนหลายสายตัดขาด โดยเฉพาะถนนสายหลักระหว่าง อ.กุฉิยารายณ์ไปยัง จ.มุกดาหารถูกน้ำซัดขาดรถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ นอกจากนี้ฝนตกที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงเช้ายังทำให้น้ำท่วมเอ่อท่วมสูงในถนนหลายสาย รวมถึงบ้านเรือนของบ้านเรือนประชาชนหลายจุดภายในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศบาลต้องเร่งนำเครื่องสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่
ล่าสุดนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน เพื่อรับมือสถานการณ์พายุฝนที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายและอุปกรณ์เข้าให้การช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายโดยด่วน
นครพนม น้ำเอ่อล้นส่อทะลักเข้าเมือง
ขณที่ จ.นครพนม อิทธิพลของพายุโพดุล ถึงแม้จะเริ่มเคลื่อนตัวผ่านอีสาน รวมถึง จ.นครพนม แต่ยังคงมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีปริมาณฝนเฉลี่ยสะสมที่แค่ประมาณ 50 -60 มิลลิเมตร โดยยังส่งผลให้ระดับน้ำน้ำโขง เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่ง ที่ประมาณ 4.30 เมตร คือที่ 13 เมตร ถึงแม้จะยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวัง เป็นหาน้ำโขงหนุนลำน้ำสาขาเอ่อท่วมฉับพลัน เนื่องจากยังมีมวลน้ำจากหลายพื้นที่ ไหลระบายมาสมทบ ทำให้ ตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา พบว่า ลำน้ำสาขาสายหลักของ แม่น้ำโขง ประกอบด้วย ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ที่รองรับน้ำจาก พื้นที่ไหลายจังหวัด ไหลมผ่าน อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม ก่อนระบายลงแม่น้ำโขงที่ อ.ท่าอุเทน ยังมีปริมาณเพิ่มสูงต่อเนื่อง อยู่ที่ประมาณ 80 -90 เปอร์เซ็นต์ของความจุ
นอกจากนี้ ยังมีลำน้ำสาขาสายหลัก คือ ลำน้ำก่ำ ที่ รับน้ำมาจาก หนองหาร จ.สกลนคร ไหลผ่าน อ.วังยาง อ.นาแก ก่อนไหลระบายลงน้ำโขงที่ อ.ธาตุพนม ระยะทางยาว กว่า 120 กิโลเมตร รวมถึง ลำน้ำบัง ในพื้นที่ อ.นาแก ได้ มีระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นกัน มีปริมาณความจุที่ประมาณ 80 -90 เปอร์เซ็นต์ของความจุ และมีแนวโน้ม เพิ่มระดับต่อเนื่อง ทำให้ทางชลประทานจังหวัดนครพนม ได้เร่งระบายน้ำ จากลำน้ำสาขาย ทั้ง 4 สาย ลงแม่น้ำโขงเต็มพิกัด เพื่อให้มวลน้ำระบายลงน้ำโขงให้มากที่สุด ป้องกันปัญหาน้ำโขงหนุน เอ่อท่วม หากมีฝนตกหนักต่อเนื่องซ้ำอีก
โดยเฉพาะช่วงนี้ ลำน้ำก่ำ ได้เริ่มไหลมาสมทบ ลำน้ำ บัง บริเวณพื้นที่ บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก ทำให้ระดับน้ำจ่อล้นตลิ่ง เสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน หากมีมวลน้ำจากหนองหาร จ.สกลนคร ไหลมาสมทบจำนวนมาก อีกทั้ง ยัง เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมทุกปี จึงต้องมีการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชน ที่มีบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยง กว่า 300 หลังคาเรือน เตรียม พร้อม จัดเก็บสิ่งของ เคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง ขึ้นที่สูง ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรนาข้าว ที่พึ่งปักดำ ในพื้นที่ ลุ่ม เริ่ม ได้รับผลกระทบ จากน้ำเอ่อท่วม และมีพื้นที่การเกษตร เสี่ยงได้รับผลกระทบมากกว่า 3,000 ไร่ หากฝนตกต่อเนื่อง คาดว่าจะถูกน้ำท่วมขังเสียหายทั้งหมด
พายุโพดุลทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรงพัดบ้านเรือนชาวบ้านเสียหาย
"พายุโพดุล" ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรงพัดบ้านเรือนชาวบ้านเสียหาย ในเขตพื้นที่ตำบลบางนอน อำเภอเมือง จ.ระนอง ทำให้มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายหลายหลังคาเรือน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงกลางดึก เวลาประมาณ 01.30 น. ของคืนวันที่ (31 สิงหาคม 2562) ซึ่งได้เกิดลมพายุกรรโชกแรง ในเขตตำบลบางนอน อำเภอเมือง ทำให้ มีบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 4 หลัง และมีต้นไม้และกิ่งไม้ขนาดใหญ่โค่นล้ม หลังคาบ้านของชาวบ้านในพื้นที่ได้ถูกลมพัด แตกหักเสียหายจำนวนหลายหลังคาเรือน โดยเฉพาะที่บ้านเลขที่ 35/2 หมู่ที่ 3 ตำบลบางนอน อำเภอเมือง พายุฝนได้เข้าพัดถล่มจนทำให้หลังคาบ้านปลิวเสียหาย และต้นไม้ได้ถูกลมพัดล้มโค่นเสียหายไปหลายต้น
ส่วนเจ้าของบ้านทราบชื่อ คือ นายทวี แซ่โฮ้ อายุ 58 ปี ได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขณะเกิดเหตุตนนอนหลับอยู่ในบ้าน ในช่วงเวลาประมาณตี 01.00 ของวันที่ (31 สิงหาคม 2562) ได้เกิดพายุฝนลมกรรโชกแรงเข้าพัดถล่มเป็นเวลานานประมาณ 10 นาที โดยเสียงของลมที่พัดผ่านมีเสียงดังมากและน่ากลัวมาก ซึ่งในช่วงที่ลมพายุได้พัดผ่านบ้าน ทำให้กระเบื้องมุงหลังคาบ้านถูกลมพัดปลิวหลุดลอยละลิ่วไปหลายแผ่น และแรงลมยังได้พัดบ้านอีกหลังซึ่งไว้สำหรับเก็บของพังลงมาจนได้รับความเสียหายมาก จานดาวเทียมที่ติดตั้งรับสัญญานโทรทัศน์ก็ได้รับความเสียหายไปด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ล้มขวางถนนตรงจุดทางเข้าบ้านและรอบๆบริเวณสวนอีกจำนวนหลายต้น ส่วนบ้านหลังอื่นๆยังคงรอการสำรวจความเสียหายอยู่โดยในขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์การบริหารส่วนตำบลบางนอนในเขตท้องที่รับผิดชอบ ได้เร่งส่งเจ้าหน้าที่ฯ เข้าสำรวจความเสียหายเบื้องต้นพร้อมให้การช่วยเหลือแก่ชาวบ้านในเขตพื้นที่แล้ว
กรมทางหลวงชนบท รับมือพายุโซนร้อนโพดุลพื้นที่ภาคอีสาน พร้อมเข้าช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 6 (ขอนแก่น) และหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ แขวงทางหลวงชนบทขอนแก่น แขวงทางหลวงชนบทมหาสารคาม แขวงทางหลวงชนบทเลย แขวงทางหลวงชนบทร้อยเอ็ด และหมวดบำรุงทางหลวงชนบทในพื้นที่ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และได้จัดบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ สะพานเบลีย์ ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งจัดเตรียมป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเลี่ยง และจัดชุดลาดตระเวนสำรวจตรวจตราในสายทางที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย พร้อมจัดการเส้นทาง จัดหาทางเลี่ยง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในกรณีเส้นทางหลักไม่สามารถสัญจรผ่านได้ พร้อมติดตั้งป้ายเตือน
ทั้งนี้ เมื่อกรณีถนน/สะพานขาด จะดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นเพื่อให้ใช้เส้นทางได้อย่างรวดเร็ว เช่น วางสะพานเบลีย์ ถมดินคอสะพาน เพื่อเชื่อมทาง รวมทั้ง บูรณาการร่วมกับศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตลอดจนจัดรถบรรทุก 6 ล้อ สำหรับบริการประชาชนอีกด้วย
สำนักงานทางหลวงชนบทและแขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานให้ทราบเป็นระยะๆ จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุอุทกภัยได้ที่สายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146 ตลอด 24 ชั่วโมง