ชาวนาสกลนคร สูบน้ำบาดาลเข้านา เพื่อปักดำให้ทันฤดูกาล
จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของจังหวัดสกลนคร ส่งผลให้ภาคการเกษตรกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากต้นข้าวที่ปลูกไว้เริ่มแห้งเหี่ยว บางรายไถดินไว้เฉยๆ บางรายต้นกล้าที่เตรียมไว้ถึงกำหนดปักดำ จำเป็นต้องใช้วิธีสูบน้ำจากบาดาลเข้าที่นาเพื่อทำการปักดำ เนื่องจากถึงฤดูกาลปักดำแล้ว ซึ่งหลังจากปักดำแล้วเสร็จ หากยังไม่มีฝนตกลงมา โอกาสที่ต้นกล้าที่ปักดำนี้จะเหี่ยวแห้งตายก็มีเช่นกัน จึงต้องเสี่ยงว่าจะมีฝนตกลงมาหรือไม่ หากไม่มีก็ต้องอาศัยสูบน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าว ไม่ให้แห้งเหี่ยวตายเพราะไม่มีคลองส่งน้ำมาช่วย
นายบัวศรี งอยภูธร ชาวนาเจ้าของนาบ้านหนองบัว ต.บึงทวาย อ.เต่างอย จ.สกลนคร กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าแล้งกว่าทุกปี ตนเองได้ตกกล้าไว้แล้วเพื่อรอฝนตกลงมาเพื่อจะได้ทำการปักดำให้ทันฤดูกาล
วันนี้ต้นกล้าโตและถึงเวลาที่จะต้องปักดำแล้ว หากไม่รีบถอนไปปักดำ ต้นกล้าจะแคระแกรนไม่สามารถนำไปปักดำได้ จึงตัดสินใจใช้วิธีสูบน้ำบาดาล หรือน้ำใต้ดินขึ้นมาเพื่อทำการปักดำดีกว่ารอฟ้าฝน แต่ถ้าหลังจากนี้ฝนไม่ตกลงมา ต้นข้าวที่ปลูกไว้ก็อาจจะแห้งเหี่ยวตายได้เช่นเดียวกัน ถือว่ามีความเสี่ยง แต่มันเป็นวิถีของชาวนา ถึงฤดูกาลทำนาก็ต้องทำนา
ฝนทิ้งช่วง 3 สัปดาห์ ต้นกล้าข้าวทยอยตายที่สุรินทร์
สถานการณ์ภัยแล้งในเขตพื้นที่ อ.ศรีณรงค์, อ.เขวาสินรินทร์, อ.โนนนารายณ์ และ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ หลังจากฝนทิ้งช่วงมากว่า 3 สัปดาห์ ทำให้ต้นกล้าข้าวที่กำลังเจริญเติบโต เริ่มเหี่ยวเฉาและแห้งตายไปแล้วหลายพื้นที่ แม้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตรชนิดคาราวาน จำนวน 3 ลำขึ้นโปรยสารเคมีทำฝนเทียมมากว่าสัปดาห์แล้วก็ตาม พบเพียงกลุ่มเมฆก่อตัวหนาขึ้นปกคลุมทั่วพื้นที่เท่านั้น แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ยังมีปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อย ไม่เพียงพอและปริมาณฝนยังไม่ครอบคลุมได้เท่าที่ควร หากฝนยังไม่ตกต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์ ต้นกล้าข้าวมีโอกาสเสียหายได้
ทั้งนี้ มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งในพื้นที่ ต.ตรวจ อ.ศรีณรงค์ นำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำจากหนองน้ำที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อนำน้ำเข้านาข้าวของตนเอง เพื่อหวังยืดอายุต้นกล้าข้าวในนาของตนออกไป
ชลประทานนครพนมชะลอพร่องน้ำ ลงน้ำโขง หลังฝนทิ้งช่วง รักษาปริมาณลำน้ำก่ำ
ที่ จ.นครพนม ช่วงนี้ถึงแม้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แต่ยังพบว่า ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับเริ่มเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำ ตามลำน้ำสาขาสายหลักแม่น้ำโขง คือ ลำน้ำก่ำ ที่รองรับน้ำจากหนองหาร จ.สกลนคร ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม รวมถึงลำน้ำสงคราม ที่รองรับน้ำจากหลายพื้นที่ไหลลงสู่น้ำโขง ที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ยังพบว่ามีปริมาณน้ำต่ำ ประมาณ ร้อยละ 20 -30 อีกทั้งปีนี้ระดับน้ำโขงยังเพิ่มระดับช้า จากปัญหาฝนทิ้งช่วง ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 4 เมตร ห่างจากระดับวิกฤติ ประมาณ 8 เมตร คือ ที่ 13 เมตร หากในยังมีฝนตกลงมาน้อย จะเริ่มส่งผลให้เกิดปัญหาพื้นที่นาข้าวขาดแคลนน้ำ
ขณะเดียวกันทางด้านชลประทาน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำตอนล่าง ตามแนวทางพระราชดำริ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ที่ควบคุมดูแลเก็บกักน้ำ ที่ไหลมาจากลำน้ำก่ำ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสายหลัก จากพื้นที่หนองหาน จ.สกลนคร ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ อ.ธาตุพนม จึงต้องมีการชะลอการพร่องน้ำลงสู่น้ำโขง เพื่อรักษาปริมาณน้ำในลำน้ำก่ำ รวมถึงลำน้ำสงคราม ให้อยู่ที่ระดับ ประมาณ ร้อยละ 40 -50 หรือประมาณความจุ ที่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งหมดประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร สามารถแจกจ่ายเข้าสู่ระบบชลประทานใช้ทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีกว่า 60,000 ไร่ ให้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร เนื่องจากในช่วงนี้มีแนวโน้มฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนน้อย แต่หากยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ สามารถผันน้ำโขงเข้าสู่ระบบชลประทานแก้ไขปัญหา
ระดับน้ำ 5 อ่างเก็บน้ำโคราชยังวิกฤติ แม้ 'มูน' ช่วยให้ฝนตกหลายพื้นที่
นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนมูน ที่ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และล่าสุดพายุได้อ่อนกำลังลงแล้วตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง แต่ยังคงทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ขอนแก่น ชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา มีฝนตกหนักบางแห่งและมีลมแรงอยู่ ซึ่งปริมาณฝนที่ตกลงมา ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนของแต่ละพื้นที่ได้เล็กน้อย
โดยที่จังหวัดนครราชสีมา 5 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำฝนไหลเข้าอ่างฯ ราว 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังไม่ทำให้สถานการณ์น้ำของแต่ละอ่างฯ ดีขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การยังต่ำอยู่ ซึ่งทั้ง 5 อ่างฯ
ขณะนี้ มีน้ำกักเก็บเฉลี่ยเหลืออยู่ที่ 353 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ร้อยละ 35 โดยเป็นน้ำใช้การได้เพียง 312 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือร้อยละ 32 เท่านั้น โดยอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ยังวิกฤตมากสุด มีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่เพียง 22.64 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 14.61 ของความจุกักเก็บทั้งหมด แต่เป็นน้ำใช้การได้ 21.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 14.21 เท่านั้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำมากกว่าที่อื่น คือ 165.95 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52.77 ของความจุกักเก็บทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 143.23 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 49.09
ขณะที่อ่างเก็บน้ำอีก 3 แห่งที่เหลือ คือ อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 42.92 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30.44 ของความจุกักเก็บ เป็นน้ำใช้การได้ 35.92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 26.81, อ่างเก็บลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 91.63 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33.32 ของความจุกักเก็บเป็นน้ำใช้การได้ 84.63 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 31.58
และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 29.91 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24.63 ของความจุกักเก็บ เป็นน้ำใช้การได้ 26.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 22.43 ซึ่งทั้ง 5 อ่างฯ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ยังต้องบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด โดยเน้นเพื่อการอุปโภคบริโภคมาลำดับแรก และปล่อยน้ำลงเพื่อรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนน้ำสำหรับทำการเกษตร ก็คงจะต้องอาศัยน้ำท่าที่ได้จากฝนตกแทนไปก่อน