นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่เขื่อนลำปาว และประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด พบว่าปริมาณน้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณ 482.15 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 382.15 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 19.30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบันระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรวันละ 4.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2562 มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 84 ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพียง 89.51 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 53
ดังนั้น หากยังไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่างฯ อาจทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง จึงต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในช่วงนี้ให้ดำเนินการตามแผนการส่งน้ำที่วางไว้ไปก่อน จนกว่าอ่างฯ จะเหลือน้ำใช้การได้ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจจะต้องพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำ โดยให้โครงการฯ ลำปาวติดตามสถานการณ์น้ำและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงช่วงกลางเดือน ส.ค. 2562 หากการคาดการณ์ปริมาณฝนไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จะมีการพิจารณาปรับแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำปาวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากการคาดหมายลักษณะอากาศโดยสถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ พบว่า ในช่วงต้นเดือน ส.ค. ระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค. 2562 จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้
ทั้งนี้ แผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำปาว จะแบ่งเป็นการใช้ประโยชน์ 3 ส่วน โดยอันดับแรกต้องส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคของประชาชนเป็นหลักก่อน รองลงมาคือเพื่อการเกษตร และการอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังระบายน้ำลงลำน้ำเดิมเพื่อช่วยเหลือแม่น้ำชีตอนล่าง จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำและแบ่งปัน ให้ทุกฝ่ายได้ใช้น้ำอย่างเพียงพอ ทั่วถึงและเป็นธรรม
นายกสมาคมน้ำบาดาลเผยคิวเจาะบาดาลแน่น รายหนึ่งต้องรอ 2 สัปดาห์-1 เดือน
นายสุทิน ไชยชมพู นายกสมาคมน้ำบาดาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ทั้ง ไร่ นา พื้นที่ทางการเกษตร และ ชุมชนที่อยู่ห่างไกลระบบบริการน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้ขณะนี้มีการจองคิวขอให้บริการกับผู้ประกอบการทั่วประเทศนับพันราย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเร่งแบบทั้งวันทั้งคืน เพื่อบรรเทาปัญหาให้เร็วที่สุด แต่เนื่องจากการขุดเจาะแต่ละพื้นที่มีความยากง่ายต่างกัน บางจุดต้องเจาะลึกไปกว่า 200 เมตร ทำให้ต้องใช้เวลา คนที่รอคิวอยู่อาจต้องรอนานกว่า 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน
ดังนั้น หากรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้น้ำใต้ดินบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ควรต้องแก้ระเบียบกฎหมาย เนื่องจากในขณะนี้การขออนุญาตขุดเจาะต้องใช้เวลานาน ไม่ทันกับความต้องการใช้น้ำแบบเร่งด่วน หลายคนรอจนผลผลิตเสียหาย
ส่วนพื้นที่ที่อนุญาตให้เจาะเฉพาะบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนด สปก. และ นส.3 ก็ทำให้หลายคนเดือดร้อน เพราะมีพื้นที่อีกจำนวนมากทั้งพื้นที่เกษตร และ ชุมชน ที่อยู่อาศัย ที่ไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์เหล่านี้ และ ต้องได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
'อนุทิน' ให้รพ.เตรียมแผนสำรองน้ำ ไม่ให้กระทบบริการ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การดูแลช่วยเหลือประชาชน สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำรวจและรายงานโรงพยาบาลที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ให้จัดทำแผนสำรองน้ำให้เพียงพอสำหรับบริการประชาชน และประสานหน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล การประปาในพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคง ในการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง หรือขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อไม่ให้กระทบบริการผู้ป่วย
รวมทั้งจัดทำมาตรการประหยัดน้ำในโรงพยาบาลและบ้านพักเจ้าหน้าที่ จัดทำระบบรีไซเคิลน้ำ ตรวจสอบท่อประปาไม่มีการรั่วไหลของน้ำ และขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการช่วยกันประหยัดน้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :