ไม่พบผลการค้นหา
สิงคโปร์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐฯที่ตกอันดับลงมาอยู่ที่ 3 ขณะที่ไทย เศรษฐกิจอยู่ได้ด้วยนักลงทุนจากต่างชาติ

บลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีชี้วัดการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่จัดโดย IMD Business School ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า 'สิงคโปร์' กลายเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงที่สุด รองลงมาคือ ฮ่องกง และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่สิงคโปร์กลับมาอยู่ในอันดับที่ 1 อีกครั้ง

รายงานการจัดอันดับดังกล่าวระบุว่า โครงสร้างเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานระดับสูง ทักษะความสามารถของแรงงาน รวมไปถึงกฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองและประสิทธิภาพที่เอื้อต่อการเริ่มต้นทำธุรกิจของสิงคโปร์นั้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป้นอันดับหนึ่งของประเทศที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในโลกในปีนี้

ทางด้านสหรัฐฯ ในปีนี้ตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 3 จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 1 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเรื่องภาษี และการส่งออกเทคโนโลยีระดับสูงที่อยู่ในช่วงขาลงของสหรัฐฯ

รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกนั้นยังคงอยู่ในระดับดี ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกจากสิงคโปร์แล้ว 'อินโดนีเซีย' เป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลที่มีความน่าเชื่อถือ และเงื่อนไขทางธุรกิจต่างๆ

สำหรับประเทศไทยอันดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้กระโดดขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 25 ด้วยอานิสงค์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงจากการลงทุนและการผลิตจากต่างชาติ ทางด้านญี่ปุ่นประเทศที่เคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ในช่วงทศวรรษ 1980 นั้นอันดับตกลงมา 5 อันดับ เนื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมไปถึงหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่สูงขึ้น และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่่อ่อนแอมากขึ้น

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จัดอันดับโดย IMD Business School ใช้ดัชนีกว่า 235 ตัว โดยแบ่งออกเป็นการชี้วัดทางเศรษฐกิจจาก 4 ประเภท ได้แก่ ศักยภาพของเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ประสิทธิภาพของรัฐบาลและประสิทธิภาพของภาคเอกชนในการทำธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ World Economic Forum หรือ WEF ระบุว่า การแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการเพิ่มผลผลิต และส่งเสริมให้เกิดการปรับเพิ่มรายได้ของบุคลากร ซึ่งในทางหนึ่งจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ทั้งยังจะช่วยให้เกิดความหลากหลายขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม WEF ย้ำว่า หากองค์ประกอบต่างๆ ในสังคมเอื้อต่อการแข่งขันที่ครอบคลุมผู้เล่นทุกฝ่ายและทุกระดับ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีผลิตภาพได้ แต่หากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไม่พร้อมที่จะตรวจสอบถ่วงดุลการแข่งขันทางเศรษฐกิจ อาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: