ไม่พบผลการค้นหา
‘จิรัฏฐ์’ มอง ผบ.ทร. เตรียมชงใช้เครื่องยนต์จีนในเรือดำน้ำก่อนเกษียณไม่กี่สัปดาห์ เป็นการยื้อเวลาปัดความรับผิดชอบหรือไม่ แนะถ้าชดเชยไม่คุ้มความเสี่ยง ควรยกเลิกสัญญา - หาใหม่ที่ดีกว่านี้ หากเรือดำน้ำสำคัญกับยุทธศาสตร์ของประเทศจริง

วันที่ 22 กันยายน 2566 จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงข้อเสนอการนำเครื่องยนต์เรือดำน้ำ CHD 620 ของประเทศจีน มาใส่แทนเครื่องยนต์สัญชาติเยอรมันซึ่งมีปัญหาไม่สามารถใส่ให้ตามสัญญาได้

โดยระบุว่า สิ่งที่ ผบ.ทร. เตรียมชงเรื่องครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนตัวเองเกษียนราชการ คำถามคือถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเครื่องยนต์เรือดำน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องความเป็นความตายของลูกเรือ ทำให้เกิดคำถามขึ้น ว่าการที่ ผบ.ทร ยื้อปัญหานี้เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบหรือไม่? 

ขณะเดียวกัน ที่กองทัพเรือเคยระบุว่าว่าเครื่องยนต์ CHD 620 ของจีนเป็นเครื่องยนต์ที่จีนใช้กับเรือผิวน้ำของตัวเองมานานแล้ว และส่งเจ้าหน้าที่ไปทดสอบประสิทธิภาพตั้งแต่กลางปี 2565 แต่เหตุใดเพิ่งจะได้ข้อสรุปนี้ออกมา 18 เดือนหลังไทยทราบว่าจีนมีปัญหาไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำให้ไทยได้ตามสัญญา 

จิรัฏฐ์ยังระบุต่อไปว่า กองทัพเรือเคยบอกว่าเป็นปัญหาจากทางฝั่งจีน เนื่องจากเยอรมนีไม่ออกใบอนุญาตการขายให้กับทางจีน เป็นปัญหาที่ทางจีนต้องดำเนินการแก้ไข แต่วันนี้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กำลังจะไปขอพบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เพื่อเจรจาขอให้ขายเครื่องยนต์ MTU 396 ให้จีน นั่นแปลว่ารัฐบาลไทยกำลังจะไปเจรจากับรัฐบาลเยอรมนีให้กับจีน ซึ่งฟังดูผิดฝาผิดตัว และถ้าช่วยเหลือจีนถึงขนาดนี้ ไทยจะมีอำนาจในการต่อรองเรียกค่าชดเชย หรือเรียกเงิน 7 พันกว่าล้านที่จ่ายไปแล้วจากจีนได้อย่างไร 

ส่วนที่ว่าจีนจะชดเชยด้วยการสนับสนุนอะไหล่ 8 ปี ก็เป็นข้อเสนอเดิมตามสัญญาอยู่แล้ว และยังป็นข้อเสนอที่น้อยเกินไปแต่แรก ไทยซื้อเรือดำน้ำจากจีนตามข้อเสนอแรกคือใช้เครื่องยนต์เยอรมัน แต่พอหาเครื่องยนต์เยอรมันให้ไม่ได้ ถ้าต้องเปลี่ยนก็ควรต้องมีการชดเชยที่ดีกว่านี้ ให้คุ้มกับความเสี่ยงที่ไทยจะต้องยอมรับ เพราะไทยจะต้องใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้ก่อนจีนด้วยซ้ำ

ประเทศไทยจ่ายเงินให้จีนไปแล้ว 7 พันกว่าล้าน และจีนไม่สามารถทำตามสัญญาได้ตามกำหนดส่งมอบเดิมคือปลายปีนี้ หาก ครม. ยอมรับข้อเสนอนี้ก็ต้องใช้เวลาอีก 40 เดือนเป็นอย่างน้อย สรุปได้ว่า ผบ.ทร จะเสนอเรื่องให้ ครม.แก้ไขสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ใหม่โดยแก้ไขแค่ยี่ห้อเครื่องยนต์ และวันสิ้นสุดสัญญาที่เลื่อนออกไปจากเดิมอีก 40 เดือนเท่านั้น

จิรัฏฐ์ยังกล่าวต่อไป ว่าสุดท้ายแล้ว ไทยควรยกเลิกสัญญา และเจรจาค่าเสียหายชดเชยให้ได้มากที่สุด และกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ หากเรือดำน้ำสำคัญกับยุทธศาสตร์ของประเทศจริง 

“การดำเนินการจัดหาใหม่ จะทำให้เราได้ข้อเสนอจากผู้ขายที่ดีกว่านี้มาก อ้างอิงข้อเสนอจากหลายประเทศที่เสนอเข้ามาแข่งก่อนกองทัพเรือจะยกงานนี้ให้จีน ทั้งเรื่องผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเรือดำน้ำที่มีสมรรถนะและประสิทธิภาพสูงกว่า ในราคาที่ดีกว่าสัญญาเดิมที่กองทัพเรือไทยพยายามปกป้องผู้ขายสุดชีวิตแบบนี้” จิรัฏฐ์กล่าว