ไม่พบผลการค้นหา
เสียงจากชาวบ้าน “รอบเหมือง” ต่อแผนฟื้นฟูเยียวยาจากผลกระทบจากการรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านเส้นทางดำเนินชีวิตที่ตกค้างสารเคมี

สารปนเปื้อนที่ไหลและปกคลุมในสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต นับเป็นเวลากว่า 10 ปี บนพื้นที่รอบเหมืองบริเวณตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จนเกิดภาพการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านและนายทุน ที่รุกไล่ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งทำมาหากิน กลายเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในชุมชน

แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งให้บริษัททุ่งคำ จำกัดที่ครอบครองใบประทานบัตรในการดำเนินกิจการให้ชดใช้ค่าเสียแก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 149 คน เป็นจำนวนเงิน 15,496,000 บาท

แต่ช่องโหว่ทางกฎหมายในการจำกัดขอบเขตและการประทานบัตร ยังเป็นสิ่งที่หลายพื้นที่กำลังวิตก เนื่องจากสัญญาณจากภาครัฐ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้แสดงท่าทีแข็งขัน

ส่อไปถึงการเปิดทางให้ผู้ที่ต้องการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำยื่นขอภายใต้กรอบ พระราชบัญญัติแร่ 2560 ที่สอดรับกับนโยบายของกรมอุสสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ประกาศให้มีการสำรวจและทำเหมืองแร่ ในพื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบไปด้วย พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี เลย สตูล สระแก้ว สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง สระบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ 

เสวนากรณีเหมืองทอง

(ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหิน)

กลายเป็นการตั้งคำถามจากชาวบ้านว่าปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ยังไม่ได้รับการสะสางและเห็นทางออก แต่ยังมีสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก ในการผลักดันจากภาครัฐที่ถูกมองว่าเอื้อนายทุนหรือไม่ โดยการข้ามกระบวนการมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน ดังสะท้อนในหลายพื้นที่อีกไม่นานนักจะกลายเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสารพิษที่จะส่งต่อไปถึงลูกหลานพวกเขา 

“ใครเป็นคนรับผิดชอบในการจัดทำ EIA ทั้งที่ในพื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งต้นน้ำ แล้วทำไมไม่มีการระงับโครงการ แต่ยังมีการต่อสัญญาออกไปอีก” เสียงจากชาวบ้านที่อยู่บริเวณการขุดลอกเหมืองหิน ได้ส่งเสียงคำถามในวงสัมมนา ว่าด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ จากกรณีเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ได้ยิงคำถามไปถึงวิทยากรด้วยความคับข้องใจในการจัดทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งตัวรายงานฉบับนี้ไม่เพียงแต่สร้างความสงสัยกับคนรอบเหมือง แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่อยู่ในโครงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมได้ตั้งคำถามถึงกระบวนการจัดทำ

เสวนากรณีเหมืองทอง

(ดร.นัทมน คงเจริญ)

“หลายกรณีที่ชาวบ้านได้เรียกร้องไปว่าพื้นที่ของโครงการมันคือต้นน้ำ แต่ก็จะเห็นว่ากฎหมายของเรามันยังมีช่องโหว่” ดร.นัทมน คงเจริญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตอบคำถามตัวแทนของชาวบ้าน โดยเห็นว่าที่การออกใบประทานบัตรของภาครัฐ ผ่านการจัดทำ EIA นั้น ควรชะลอและจัดทำการศึกษาใหม่ ต้องมีมาตรฐานมีผู้เชี่ยวชาญที่น่านับถือ มีความเป็นกลางไม่ใช่การเปิดรับฟังเพียงเสียงของนายทุน เพราะเธอเห็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นคือตัวชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบเหมือง 

และต้องพึงกระกระทำด้วยความระมัดระวัง รวมถึงมาตรการการป้องกันที่เป็นหลักประกันว่าจะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด มิเช่นนั้นก็ถือว่าไม่เป็นธรรมสำหระับชาวบ้านที่ต้องรับความเสี่ยงจากการได้รับสิ่งปนเปื้อนจากการโกบโกยทรัพยากรธรรมชาติ

ความอ่อนแอและความคลุมเครือของกฎหมาย ที่เปิดช่องโหว่ให้นายทุน

เสวนากรณีเหมืองทอง

(ดร.อาภา หวังเกียรติ)

เช่นเดียวกับ ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เปรียบการทำเหมืองคือ “เหมืองนะหน้าทอง” เพราะช่องว่างที่เอื้อให้เกิดเหมืองผ่านกฎหมายสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอ และผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใต้ EIA นั้น มันไม่สอดคล้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน อีกทั้งแนวคิดฟื้นฟูของภาครัฐต้องมีการเข้าไปพูดคุยกันจากทุกฝ่าย

ดังนั้นมีข้อเสนอคือการฟื้นฟูพื้นที่ชาวบ้าน โดยการทำความสะอาดจากมลพิษที่เกิดจากการทำเหมือง อย่างน้อยที่สุดคือการทำให้พื้นที่ตรงนั้น ไม่มีค่าสารพิษก่อนที่จะมีการรุกล้ำเข้ามาของแหล่งทุน ไม่ใช่การปรับทัศนียภาพที่เป็นเพียงเปลือก ซึ่งบ่อยครั้งจะเห็นว่าผู้ก่อปัญหามักจะไม่รับผิดชอบ 

เสวนากรณีเหมืองทอง

(ทนายสอ หรือ ส.รัตนมณี พลสุข)

“บริษัทมักจะหายไป แม้ว่าชาวบ้านจะดำเนินการ พอเขาได้ทรัพยากรไปเขาก็ไป” ทนายสอ หรือ ส.รัตนมณี พลสุข ทนายความและผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ชุมชน กล่าวเสริมถถึงความคลุมเครือของกฎหมาย เพราะพ.ร.บ.แร่ 2560 เหมือนว่ามีแนวคิดเรื่องฟื้นฟูแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะครอบคลุมหรือไม่ ทนายสอ ได้ยิงคำถามขึ้นมา และเห็นว่าต้องมีกองทุนล่วงหน้า เพราะมักปรากฎว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีแม้แต่หลักประกันว่า หากเกิดปัญหาขึ้นมาใครจะเยียวยาพวกเขา เพราะหากมีเหมืองเกิดขึ้นอีกอาจจะไม่โชคดีเหมือนที่เหมืองจังหวัดเลย 

คำตอบจากภาครัฐ ที่อยู่ในท้ายน้ำ

เสวนากรณีเหมืองทอง

(ดร.ชลาทิพย์ รัตสุข ผอ.ส่วนน้ำเสียอุสาหกรรม กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ)

“กรมควบคุมมลพิษ เป็นเหมือนท้ายน้ำที่คอยเสนอข้อมูลต่อไปดำนำเนินกลาง” นั่นคือคำตอบของ ดร.ชลาทิพย์ รัตสุข ตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ชี้แจงถึงการเยียวยาและฟื้นฟูในพื้นที่ผลกระทบ ซึ่งความยากของหน่วยงานคือขอบเขตการทำงาน ที่มีข้อจำกัดโดยคพ.เองก็มีหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและติดตามตรวจสอบตามที่มีข้อเรียกร้อง ก่อนที่จะนำเสนอไปยังกพร.ให้นำไปปรับแผนดำเนินการ

โดย "ชลาทิพย์" ได้ยกอีกหนึ่งปัญหาของทางภาครัฐ คือที่ช่องว่างระหว่างรัฐกับชาวบ้านคือการสื่อสารเวลาออกนโยบาย รวมถึงเมื่อเกิดปัญหาก็พบว่ามีการติดตามล่าช้า ดังนั้นถ้าจะหาทางออกต้องมีบูรณาการร่วมกัน