นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังเข้าสู่เดือน พ.ค. ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานกลาง เพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ ไปกำหนดรายละเอียด โดยออกเป็นคู่มือการปฏิบัติของแต่ละพื้นที่ สิ่งสำคัญคือ การออกมาตรการการปฏิบัติรายจังหวัด จะสามารถเข้มข้นกว่ามาตรฐานกลางได้ แต่เข้มข้นน้อยไม่ได้ และต้องยึดปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ส่วนปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจขอให้เป็นเรื่องถัดมา
สำหรับกรณีร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังสามารถซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้นั่งทานในร้าน เพราะ ศบค.ยังไม่ได้มีการผ่อนปรน โดยขอให้รอการพิจารณาในรอบถัดไป
ส่วนร้านอาหารนอกห้างสรรพสินค้า ขอให้ดูคู่มือการปฏิบัติจากจังหวัดของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งในพื้นที่จะต้องมีชุดเจ้าหน้าที่เข้าไปสุ่มตรวจในทุกกิจกรรม และประเมินความปลอดภัย เช่น พนักงานเสิร์ฟต้องมีมาตรการความปลอดภัย เว้นระยะห่างตามที่กำหนด มีมาตรฐานการทำความสะอาด หากไม่เป็นไปตามข้อกำหนดก็จะมีการตักเตือน ถ้าไม่ปรับปรุงก็จะมีมาตรการดำเนินการต่อไป
ขณะที่ร้านตัดผม ยังสามารถทำได้แค่ การตัด สระ และไดร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่อยู่ในร้านนานเกินไป ยังไม่สามารถทำสีผม หรือกิจกรรมอื่นที่ใช้เวลานานเกินไป ขอให้ประชาชนอดใจรอไม่นาน หากทุกอย่างดีขึ้น ก็จะขยายประเภทกิจกรรมให้ค่อยๆ ผ่อนคลาย
ส่วนตลาดสด ตลาดนัด หรือแผงลอย ไม่ได้กำหนดประเภทสินค้า แต่ต้องมีการเว้นระยะ มีจุดตั้งเจลล้างมือ และจัดจุดคัดกรอง
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าการควบคุมต้องมี 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 จากส่วนกลาง ก็คือ จาก ศบค. กำหนดด้วยมาตรฐานกลาง ระดับที่ 2 จากส่วนประเมิน คือการสุ่มตรวจ และระดับที่ 3 คือระดับพื้นที่ ที่ต้องสอดประสานกันจะได้ไม่เกิดความผิดพลาด พร้อมเน้นย้ำว่าขณะนี้ถือเป็นการผ่อนคลายมาตรการในระดับหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัว แต่ต้องเป็นการค่อยๆ ผ่อนปรน เพราะหากปลดล็อกทันทีอาจทำให้เกิดการระบาดกลับมาอีก ทั้งนี้เชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้น จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้นจนถึงในช่วงกลางเดือน พ.ค. เชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่เป็นบวก ส่งผลให้เกิดการผ่อนปรนมากขึ้น