นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ที่ปฎิบัติตามประกาศของ ศบค. จนทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เป็นตัวหลักเดียวได้ จึงเป็นที่มาของการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขยายเคอร์ฟิว ออกไปอีก 1 เดือน
นอกจากนี้ ยังได้ออกข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งหลักการของการพิจารณาของ ศบค. พิจารณาจากผลกระทบด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ส่วนด้านสังคมและเศรษฐกิจ เป็นลำดับถัดมา โดยแนวทางที่นายกรัฐมนตรีให้ ศบค.และหน่วยงานไปปฏิบัติ จะต้องมีมาตรฐานกลาง และออกมาเป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งแนวปฏิบัติในจังหวัดต่างๆ ภายใต้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นมีความเข้มข้นมากกว่ามาตรฐานกลางได้ แต่น้อยกว่าไม่ได้
นางนฤมล ระบุว่า นายกรัฐมนตรีให้มีการควบคุมใน 3 ระดับ เริ่มจากระดับที่ 1 คือ มารตรฐานกลาง ระดับที่ 2 จะต้องมีการประเมินโดยการสุ่มตรวจว่า ปฎิบัติไปตามที่กำหนดหรือไม่ และระดับที่ 3 การควบคุมระดับพื้นที่ที่ต้องกำหนดแนวปฎิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชน และผู้ประกอบการปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังแสดงความเป็นห่วง ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอีก 13 คน จากทุกภาคส่วนเพื่อศึกษาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นการเสริมการทำงานของคณะกรรมการเงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ
นายกรัฐมนตรี ยังได้ย้ำกับปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ให้ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม หากมีโครงการใดที่สามารถทำให้เกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่นก็ขอให้ทำ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถเสนอแนะเข้ามาผ่านทางท้องถิ่นหรือช่องทางอื่นๆก็ได้ เพื่อที่จะวางมาตรการออกมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง