ไม่พบผลการค้นหา
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดจากไอเอ็มเอฟ ชี้ต้องมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เข้มแข็ง และมาตรการภาษีที่เข้มงวด สกัดการครองตลาดของบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง ที่อาจทำลายการสร้างสรรค์นวัตกรรม ฉุดรั้งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เผยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO:World Economic Outlook) ฉบับล่าสุด เตือนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก เช่น กูเกิล แอปเปิล แอมาซอน และเฟซบุ๊ก กุมอำนาจของตลาดไว้แทบทั้งหมดจนอาจเป็นการบ่อนทำลายนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งสร้างความยากลำบากให้ธนาคารกลางแต่ละแห่งจัดการกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

พร้อมกับแนะว่า การมีกฏหมายการค้าเข้มแข็งขึ้นเป็นทางออกสำคัญ เนื่องจากจะเป็นการการันตีว่าบริษัทรายใหญ่เหล่านี้จะไม่ใช้ความได้เปรียบที่ตนมีขัดขวางการเข้ามาสู่สนามการค้าของคู่แข่งอื่นๆ

อีกทั้งยังควรมีมาตรการด้านภาษีระหว่างประเทศที่เข้มงวดขึ้นเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการดำเนินธุรกิจ

หากไม่มีมาตรการแก้ไขใดๆ "การลงทุนจะอ่อนแอลง การสร้างนวัตกรรมจะช้าลง รายได้แรงงานจะลดลง และผู้กำหนดนโยบายจะเผชิญความยากลำบากเพิ่มผลิตผลในยามที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มอยู่ในขาลง"

แม้ว่างานศึกษาของไอเอ็มเอฟจะไม่ได้กล่าวถึงชื่อบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ว่าหมายถึงรายใดบ้าง แต่ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าใครเป็นผู้ครองตลาด โดยการกระจุกตัวของบริษัทเทคโนโลยีดูมีความหนาแน่นมากในสหรัฐฯ มากกว่าในฝั่งยุโรป 

เหล่ายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีถูกกล่าวหามาเป็นเวลานานเรื่องความพยายามครองตลาดด้วยการเข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการกับบริษัทเทคโนโลยีรายย่อย เพื่อลดคู่แข่งทางการค้า ซึ่งไอเอ็มเอฟชี้ว่า ความพยายามในการลดคู่แข่งของบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นสัญญาณบอกว่าควรมีการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดการค้ามากขึ้น


อ้างอิง; The Guardian