อาวัด อิบน์ อูฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซูดานและหัวหน้าคณะรัฐประหารซูดานประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกองทัพ ซึ่งจะทำให้หน้าที่เป็นรัฐบาลชั่วคราว 2 ปีในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศก่อนจะจัดการเลือกตั้ง หลังจากที่คณะรัฐประหารได้โค่นล้มโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ประธานาธิบดีซูดานที่อยู่ในอำนาจมาเกือบ 30 ปี
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวซูดานได้ปักหลักประท้วงหน้ากองบัญชาการกองทัพและทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาร์ทูม ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มประท้วงกันในเดือน ธ.ค.
จนเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้นำ 4 เหล่าทัพของซูดานได้เดินทางไปกดดันให้บาเชียร์ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และประกาศตั้งคณะกรรมาธิการกองทัพ เพื่อเข้ามาบริหารประเทศในเวลาเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือน และประกาศเคอร์ฟิวตอนกลางคืน ขัดขวางการชุมนุมของประชาชน แต่ประชาชนยังคงปักหลักประท้วง ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเพื่อเรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้มีรัฐบาลชั่วคราวที่เป็นพลเรือน
ประชาชนไม่ยอมรับให้เขาเข้ามาบริหารประเทศ เนื่องจากอิบน์ อูฟก็เป็นผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองซูดานในช่วงที่มีความขัดแย้งดาร์ฟูร์ ในช่วงปี 2000 และเขาถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางการเงินในปี 2007 ซึ่งประชาชนมองว่าเขาก็เป็นพวกเดียวกันกับบาเชียร์ ส่งผลให้อิบน์ อูฟประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกองทัพแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้คืนอำนาจให้กับพลเรือน แต่กลับส่งไม้ต่อให้กับพลโทอับเดล ฟัตตาห์ อับเดลราห์มาน บูร์ฮาน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า บูร์ฮานถือว่าเป็นมีประวัติขาวสะอาดกว่านายพลซูดานคนอื่นๆ และเคยเข้าไปรับฟังความเห็นของผู้ประท้วงต่อต้านบาเชียร์มาแล้ว กองทัพจึงเห็นว่าผู้ประท้วงอาจยอมให้เขาเข้ามาบริหารประเทศ และยุติการชุมุนม แต่ภาคประชาสังคมของซูดานยืนยันว่าจะต้องมีรัฐบาลพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้นำคณะรัฐประหารยืนยันว่าจะมีการดำเนินคดีบาเชียร์ที่ทำให้ประเทศมาสู่จุดวิกฤต เงินเฟ้อพุ่งสูงไปกว่าร้อยละ 70 แต่พวกเขาประกาศว่าจะไม่มีการส่งตัวบาเชียร์ไปดำเนินคดีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC แม้บาเชียร์ถูก ICC ตั้งข้อหาก่อนอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากความขัดแย้งดาร์ฟูร์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300,000 ราย