ไม่พบผลการค้นหา
'ชูศักดิ์' รับลูก หลังประธานสภาฯ ไม่บรรจุร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ 'เพื่อไทย-ก้าวไกล' เหตุฝ่ายกฎหมายหวั่นขัดคำวินิจฉัยศาล รธน. เล็งเสนอส่งให้ศาลตีความอีกรอบ จี้เอาจำนวนครั้งประชามติ มองญัตติขบวนเสด็จฯ ควรส่งรัฐบาลหามาตรการแก้ปัญหา เผย 'เพื่อไทย' พร้อมร่วมอภิปราย

วันที่ 14 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลร่วมกันเสนอต่อประธานรัฐสภาไปแล้วนั้น โดยระบุว่า เท่าที่ทราบประธานรัฐสภาได้ส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตีความ ซึ่งฝ่ายกฎหมายมองว่าอาจจะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อน ประธานรัฐสภาจึงตัดสินใจตามคำแนะนำของฝ่ายกฎหมาย คือยังไม่บรรจุเป็นระเบียบวาระ เพราะอาจขัดต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว 

ชูศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เป็นเจตนาของเราเช่นกันว่าหากประธานรัฐสภาไม่บรรจุ เราจะนำคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งต้องทำเป็นญัตติเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอให้มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งจะเสนอไม่ทันวันที่ 16 ก.พ. นี้ ตามที่ตั้งใจไว้ และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ อีกประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วหลังจากนั้นจะนำไปสู่คำถามต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่

ขณะที่กรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ เตรียมเสนอญัตติทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ในวันนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. วิปรัฐบาลมีมติว่า พรรครวมไทยสร้างชาติสามารถเสนอญัตติดังกล่าวได้ ถือว่าเป็นญัตติที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม สภาก็ต้องพิจารณาและอภิปรายกันไป และท้ายที่สุดสภาก็จะตัดสินใจว่าต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือจะส่งรัฐบาลไปพิจารณา หรือวิธีการอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ มองว่า ทางที่ดีที่สุดคือส่งให้รัฐบาลพิจารณา ว่า สส. มีความห่วงใยในเรื่องนี้ ขอให้รัฐบาลพิจารณาหามาตรการต่างๆ ทั้งนี้ วิปได้แจ้งในที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยให้เตรียมอภิปรายในญัตติดีแล้ว

'ชูศักดิ์' มองการกลับมาของ 'ทักษิณ' ไม่สร้างความขัดแย้งเหมือนในอดีต ชี้ตอนนี้เงื่อนไขการเมืองเปลี่ยน พรรคการเมืองเคยเห็นต่างจับมือกันตั้งรัฐบาล ยอมรับกลับมาเป็นศูนย์รวมใจคน 'เพื่อไทย'


มองการกลับมาของ 'ทักษิณ' ไม่สร้างความขัดแย้ง

ชูศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษ จะส่งผลต่อการทำงานร่วมกันของรัฐบาลหรือไม่ โดยระบุว่า ความเห็นส่วนตัว ขณะนี้รัฐบาลยังทำหน้าที่ได้ดีเป็นปึกแผ่น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ทำงานเต็มที่ขยันขันแข็ง คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปตามที่วิเคราะห์กัน ก็ให้รัฐบาลทำงานไป ส่วนท่านอดีตนายกฯ ก็ทำงานของท่านในฐานะประชาชน เข้าใจว่าท่านก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การเมือง แต่พรรคการเมืองก็มีหน้าที่

ส่วนการรับมือต่อคนเห็นต่าง ชูศักดิ์ ย้ำจุดยืนว่า ทุกอย่างสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้ แต่อยู่ในครรลองของกฎหมาย อยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่ทำอะไรให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานไป และเราก็ได้พูดชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยไม่นิยมความรุนแรง ไม่ว่ากรณีใดก็ตามที่เรามองว่าไม่นำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและสันติสุข

ทั้งนี้ ชูศักดิ์ ไม่เชื่อว่าจะมีความขัดแย้งเหมือนกับขั้วเหลืองขั้วแดงในอดีต ปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ประกอบด้วยหลายพรรคการเมือง พรรคที่เคยเห็นไม่ตรงกันก็มาร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล เพราะเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนไป 

ชูศักดิ์ ยังกล่าวว่า โดยความรู้ความสามารถของ นายทักษิณ เราก็เห็นกันอยู่ เป็นบุคลากรของประเทศที่มีความสามารถมาก หากท่านจะเสนอข้อแนะนำอะไรที่เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น 

"แต่ต้องยอมรับว่านายทักษิณเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเพื่อไทย ตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน เปรียบเหมือนเป็นกำลังใจให้พรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ต้องเข้มแข็งยืนด้วยความรู้ความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่"

ส่วนกรณีที่จะมีการอายัดตัว ทักษิณ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชูศักดิ์ ระบุว่า ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และเห็นว่าไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะต้องไปในทางไหน ซึ่งที่ผ่านมามีการคาดหวังว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จึงเกิดความแตกแยก สำหรับกระบวนการของตำรวจที่จะอายัดตัว ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมซึ่งนายทักษิณก็มีทีมกฎหมายดำเนินการอยู่แล้ว