วันที่ 12 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่แสดงความเห็นว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเห็นว่าเป็นการสร้างความขัดแย้ง และอาจจะมีการรื้อฟื้นคดีที่ยุติไปแล้ว
โดย ชูศักดิ์ ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าว ชี้แจงว่า นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ป.ป.ช.มีอำนาจในการไต่สวนคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งถูกกล่างหาว่ากระทำผิด ซึ่งคดีประเภทนี้ไปทางอื่นไม่ได้ และต้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน หากมีมูลก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุด หากสั่งไม่ฟ้อง ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งให้อำนาจ ป.ป.ช.สั่งฟ้องเองได้
ชูศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จะเห็นได้ว่า ป.ป.ช. มีอำนาจมาก จึงมีการขอแก้ว่า เมื่อ ป.ป.ช.มีมติว่าคดีไม่มีมูล ที่ผ่านมาถือว่าเป็นอันสิ้นสุด แต่จะแก้ไขให้สามารถส่งคดีที่ไม่มีมูลให้กับอัยการสูงสุดได้ เพื่อให้พิจารณาด้วย ถือเป็นการคานอำนาจซึ่งกันและกัน
ส่วนประเด็นต่อมาที่แก้ไขคือ ตามหลักการสากลในกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็จะไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายในการฟ้องคดี และนำไปสู่กระบวนการของศาลได้ จึงขอชี้แจงสมาชิกวุฒิสภา โดยยืนยันว่า จะไม่ใช่การรื้อฟื้นคดีเก่า แต่เป็นการสร้างหลักกฎหมายขึ้นมาใหม่ ไม่ให้ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายในการฟ้องคดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและการวินิจฉัยของศาล รวมถึงขึ้นกับดุลยพินิจของผู้เสียหายเองว่าจะฟ้องคดีหรือไม่
"สมมุติกฎหมายนี้มีผล เขาก็ต้องไปร้องอัยการสูงสุด ร้อง ป.ป.ช. ว่าขอดูสำนวนหน่อย ว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ตราบที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนั่นแหละ เขาจึงจะมีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล" ชูศักดิ์ กล่าว
ชูศักดิ์ ระบุต่อไปว่า หากกฎหมายนี้มีผล ผู้เสียหายก็สามารถส่งสำนวนนี้ไปให้อัยการพิจารณา ซึ่งอัยการก็อาจจะเห็นต่าง หรืออาจจะเห็นยืนตามที่ ป.ป.ช. สั่งไว้ และหากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้เสียหายก็มีสิทธิ์ฟ้องคดี ส่วนจะตัดสินกันอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและกระบวนการยุติธรรม
"ขอย้ำว่าเป็นการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนผู้เสียหาย ที่เขาได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นเอง และที่เราเขียนนี้ไม่ใช่มีเฉพาะคดีเสื้อแดง แต่คือคดีอะไรก็ได้ที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหา ก็สามารถจะใช้สิทธิแบบนี้ได้" ชูศักดิ์ กล่าว
ส่วนในวันพุธที่ 14 ก.พ.นี้ จะมีการเสนอยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. เกี่ยวกับเรื่องการได้มาซึ่งบุคลากรท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาการคัดเลือกบุคลากรท้องถิ่นจะให้มีการมาสอบที่ส่วนกลาง ซึ่งขัดต่อหลักกระจายอำนาจ และปัจจุบันนี้ก็มีการร้องเรียนมาค่อนข้างมาก จึงคิดว่าควรจะยกเลิกเพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการเอง โดยให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.อีกฉบับ ว่าด้วยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย คสช.ได้มีการกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการ แต่หลายฝ่ายมองว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้และไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดอง
อย่างไรก็ตาม ชูศักดิ์ เผยว่า มีหลายพรรคการเมืองได้มีการเสนอแนวทางการยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย แต่ยังไม่เห็นฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน