วันที่ 17 ต.ค. 66 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบสวนกรณีมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีการสมรู้ร่วมคิดกันในการสร้างสถานการณ์ให้นักโทษชายเด็ดขาดได้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งขัดต่อกฎหมายราชทัณฑ์ 2560 และกฎกระทรวงหรือไม่
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก การที่โซเชียลและสื่อมวลชนได้เผยแพร่หรือแชร์ภาพกันอย่างกว้างขวางเมื่อวันที่ 13 ต.ค.66 ที่ผ่านมาจำนวน 1 ภาพ ซึ่งอ้างว่าเป็นภาพของการเคลื่อนย้ายนักโทษเด็ดขาดชายที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ป่วยจากชั้น 14 ของอาคารเฉลิมพระเกียรติ ลงมาชั้นล่างผ่านทางเดินเท้าเพื่อไปทำซีทีสแกน และเอ็มอาร์ไอ ที่ตึก ภปร.โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่มีการปิดกั้นมิให้ผู้ใดล่วงรู้ หรือถ่ายภาพได้ แต่กลับมีภาพดังกล่าวเผยแพร่ออกมาสู่โซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนเพียงภาพเดียวเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะสร้างละครปล่อยภาพให้เป็นข่าว จึงไม่มีการปิดบังใบหน้าผู้ป่วย ขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแต่อย่างใด
การกระทำดังกล่าวเป็นการเล่นละครจัดฉากกัน เพื่อหวังการตบตาสังคมหรือเพื่อเอื้อประโยชน์กันในการชงเรื่องมายังท่านปลัดฯ เพื่อขอนอนรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ ต่อไปโดยไม่ต้องกลับเข้าคุกอีกหรือไม่ และชายผู้ที่นอนป่วยดังกล่าวมิได้มีการตัดผมเกียน ไม่เป็นไประเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง 2565 ที่กำหนดไว้ชัดเจนในข้อ 9 ว่า “นักโทษเด็ดขาดชายให้ไว้ผมสั้น ด้านหน้าและด้านกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 ซม. ชายผมรอบศีรษะเกรียนชิดผิวหนัง” ซึ่งผู้ต้องขังหรือนักโทษทางการเมืองต่างๆที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปทุกรายก็เห็นถูกตัดผมสั้นกันทั้งสิ้น แต่กรณี นช.รายดังกล่าวทำไมจึงเลือกปฏิบัติหรือให้อภิสิทธิ์ชนจนดูน่าเกลียดเกินไปหรือไม่
ที่สำคัญการที่กรมราชทัณฑ์จะอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้นั้นต้องเป็นไปตาม ม.55 ของ พรบ.ราชทัณฑ์ 2560 คือต้องเป็นผู้ต้องขังซึ่งป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อเท่านั้น ส่วนนช.รายนี้นั้นผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และผู้บริหารเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯแถลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ว่ามีประวัติการป่วยเพียง 4 โรคสำคัญเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่กรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบให้นักโทษเด็ดขาดชายรายนี้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ หรือโรงพยาบาลตำรวจนั้น เป็นการใช้อำนาจเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และหรือจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
กรณีเยี่ยงนี้ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไม่ควรทำหน้าที่เพียงแค่ตรายางหรือรับรายงานจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาเพื่อทราบแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ควรต้องใช้อำนาจตามกฎหมายในการทำความจริงให้ปรากฎได้ ด้วยการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบเพื่อนำความจริงมาเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ หากพบใครผิดก็ลงโทษเสียจึงจะชอบ