ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย-อนาคตใหม่-ประชาชาติ' ร่วมเสวนาแก้ รธน. 'ธนาธร' ชู อำนาจเป็นของประชาชน รธน.60 สวนทาง 'ต้องแก้' โต้ 2 ปมขวางแก้ รธน. รบ.ไร้เสถียรภาพทำอดอยาก ทางออกเดียวชิงอำนาจแบบสันติ ยก ปวศ.ชี้ 'ที่ไหนกดขี่ ที่นั่นต่อสู้' แจงสองช่องแก้ 'ปชม.-รัฐสภา' ปชช.ต้องร่วมหนุน ส่วน 'ทวี' แนะ ประชามติก่อนแก้ เอาชนะใจสังคม ขณะที่ 'สุทิน' ชี้ รบ. 19 พรรคติดกับดักตัวเอง แจงกลยุทธ์ ชงญัตติ-รณรงค์ รอปชช.สุกงอม ค่อยเช็กบิล

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเสวนา 'การปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย' ครั้งที่สอง โดยมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ พรรคประชาชาติ และประธานวิปประสานงานภาคประชาชนกับฝ่ายค้าน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย และนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเสวนา 

'ธนาธร' ชู อำนาจเป็นของประชาชน รธน.60 สวนทาง ต้องแก้ 

นายธนาธร กล่าวว่า ทุกฝ่ายคงเห็นตรงกันว่า หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ อำนาจต้องเป็นของประชาชน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวแบ่งดุลอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย ที่มาจากการแต่งตั้งของประชาชน ผ่านการให้ผู้มีอำนาจมาจากการยินยอมของประชาชน ไม่ใช่มาจากปืน หรือสายโลหิต ทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะประชาชนเลือกผู้ปกครองของเขาเอง 

นายธนาธร กล่าวว่า แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สามารถชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลได้ โดยส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เห็นฤทธิ์เดช ส.ว.แต่งตั้งของ คสช.แล้ว ทั้งที่ต่อสู้เสียเลือดกันมาเพื่อให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญนี้ ก็ให้มีสองสภา ซึ่ง ส.ว.เป็นตัวแทนของชนชั้นอนุรักษนิยมอยู่ 

โต้ 2 ปมขวางแก้รัฐธรรมนูญ-รบ.ไร้เสถียรภาพทำอดอยาก

ส่วนองค์กรอิสระนั้น นายธนาธร กล่าวว่า ก็อิสระอย่างแท้จริง ไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชนเลย มาจากการแต่งตั้งของ คสช. รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาอำนาจและความชอบธรรมให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ตอนนี้มีการพยายามคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่าน 2 ประเด็น คือ 

1.เศรษฐกิจกับการแก้รัฐธรรมนูญ บอกว่า ประชาชนจะอดตายแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญทำไมนั้น จริงครึ่งหนึ่งคือ ประชาชนจะตายแล้ว แต่สามารถทำสองเรื่องพร้อมกันได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำโดยฝ่ายนิติบัญญติ คนกำกับงบประมาณ และบุคลากรภาครัฐอยู่กับฝ่ายบริหาร สามารถทำพร้อมกันได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง รัฐบาลนี้มีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุด 19 พรรค ตอนนี้เหลือ 17 พรรค ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไร้เอกภาพทางนโยบายและความคิด 

ธนาธร-แก้รัฐธรรมนูญ

การสืบทอดอำนาจมาจากความหวังว่า ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่จับพลัดจับผลู ปัญหาเกิดกับพวกเขาเอง เอากล้วยให้ลิง 19 ตัวกินอิ่มไม่ได้ การแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจึงทำไม่ได้เลย เช่น น้ำท่วม ที่ต้องใช้ 5-6 กระทรวง แต่กลับมี รมต.และ รมช.ต่างพรรคกัน จึงไร้เสถียรภาพ 

ทางออกเดียวชิงอำนาจแบบสันติ ปวศ.ชี้ 'ที่ไหนกดขี่ ที่นั่นต่อสู้'

2.แก้รัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ สำคัญไม่แพ้ข้อแรก เป็นวาทกรรมชนชั้นอนุรักษนิยม อยากให้เชื่อเช่นนั้น เพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ พวกเขาบอกว่า จะทำให้เกิดความรุนแรง แต่ตนเห็นต่าง ประวัติศาสตร์โลกพิสูจน์แล้ว ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ การใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไปต่างหาก จะนำไปสู่ความรุนแรง นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ที่เราจะหลีกเลี่ยงการรุนแรงและการปะทะนั้นได้ ตนไม่เห็นด้วยกับการบอกว่า การแก้รัฐธณรมนูญ จะเสียเลือดเสียเนื้อ ตนเห็นต่าง การรณรงค์อย่างสันติ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกทางเดียวของสังคมไทย 

"13 ปีที่ผ่านมา เราเรียนรู้ว่า ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยกัน ประเทศจะพังทั้งหมด การพูดคุยวันนี้ ไม่ได้บอกให้คนเห็นต่างเห็นเหมือนกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ มันขัดธรรมชาติ สิ่งที่เรียนรู้จากความขัดแย้งคือ เราไม่มีกติกาที่เห็นพ้องต้องกัน ตนมีความฝันยกเลิกรัฐราชการรวมศูนย์ ปฏิรูปกองทัพ แต่เราไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดการยอมรับได้ ทำให้คนแพ้ในเกมสามารถรณรงค์ต่อไปได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้พวกเขาไม่มีวันแพ้ จึงมีแต่การสร้างข้อตกลงใหม่ว่า คนในสังคมจะแย่งชิงอำนาจกันอย่างไรให้สันติ ให้ทุกคนยอมรับ" นายธนาธรกล่าว 

แจงสองช่องแก้ 'ประชามติ-รัฐสภา' ปชช.ต้องร่วมหนุน 

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ส่วนวิธีการแก้ไขนั้น มี 2 ช่องทาง คือ 1. มาตรา 256 ตามกระบวนการของรัฐสภา ซึ่งยากมาก ต้องใช้ 84 ส.ว. กับ 2.มาตรา 166 การทำประชามติ โดยคณะรัฐมนตรี ให้มีการออกเสียงประชามติ จะทำได้คือ ต้องกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ก็เปลี่ยนรัฐบาล แล้วก็ต้องมาทำตาม ม. 256 แต่การทำประชามติก่อนเพื่อจะนำผลมาบอก ส.ว.ว่า อย่าทัดทานประชาชน แต่ไม่ว่าช่องทางไหน การรณรงค์ความเป็นเจ้าของต้องไม่อยู่กับพรรคฝ่ายค้าน 

"เป็นความตั้งใจของเรา ที่ไม่ขยับแรงกว่านี้ เร็วกว่านี้ แต่อยากให้อยู่กับผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพราะรู้ดีว่า หากปราศจากการสนับสนุนจากทุกฝ่ายแล้ว แก้ไม่ได้ เราต้องการให้ภาคประชาชนเป็นเจ้าของมากกว่า พรรคฝ่ายค้าน เมื่อมีองค์กรมากพอ พวกเราจะเป็นผู้เล่นให้ อยากให้เล่นในสภาหรือนอกสภาขอให้บอกมา" นายธนาธรกล่าว

นายธนาธร กล่าวอีกว่า การลงคะแนนช่วงต้นเดือน พ.ย.ว่า สภาผู้แทนราษฎร จะยอมให้มี กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขหรือไม่ ซึ่ง 7 พรรคฝ่ายค้านพร้อมยกมือให้ ซึ่งทุกพรรคเข้ามาร่วม เพื่อไม่อยากให้สังคมรุมประณาม แต่ตนคาดว่าจะเกิดขึ้นแน่คือ รัฐบาลจะไฮแจ็ก เพราะหากปล่อยให้ กมธ.ชุดนี้โหวตโดยไม่มีแรงกดดันจากภาคประชาชน การแก้ไขรายมาตราจะเกิดขึ้นแทนการแก้ทั้งฉบับแทน หากปล่อยให้ กมธ.เป็นไปตามยถากรรมของ ส.ส. จะถูกไฮแจ็กให้เป็นการแก้รายมาตรา กมธ.นี้เป็นเพียงบันไดก้าวหนึ่งเท่านั้น สิ่งนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปกองทัพ ไม่เช่นนั้นก็ถูกฉีกอีก การตัดวงกลม วงจรอุบาทว์นี้ต้องปฏิรูปกองทัพที่เราลืมทำตอนรัฐธรรมนูญ 2540 

'ทวี' แนะ ประชามติก่อนแก้ เอาชนะใจสังคม 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การลงพื้นที่รณรงค์แก้รัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ถูกตั้งคำถามว่าแล้ว 16 ล้านเสียงที่ลงมติรับมาจะทำอย่างไร จึงทำให้เกิดข้อเสนอว่า เราจะกล้าหาญพอ ทำประชามติก่อนโดยถามว่า จะแก้รัฐธรรมูญ 2560 หรือไม่ เพราะหากชนะด้วยข้อกฎหมาย แต่ไม่ชนะใจสังคม จะมีปัญหา เหมือนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กฎหมายใหญ่กว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กำหนดให้มีการใช้ดุลพินิจตีความตามอำเภอใจ ทั้งยังเหมือนเกลียดชังคนจน คนด้อยโอกาส อันตรายที่สุดถ้าสังคมไทยยังเป็นระบบแบบนี้ คือ อันตรายต่อการพัฒนา อะไรที่พิเศษคือความไม่ยุติธรรม เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ต้องขึ้นกับพยานหลักฐาน ไม่ใช่นโยบาย อย่างภาคตะวันออก ก็จะพรากเกษตรกรต่อชุมชน ผ่านการนำต้นทุนมนุษย์ไปให้คนอื่น เพื่อทุน 

ทวี

"รัฐธรรมนูญต้องแก้ เพื่อให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมจากกฎหมาย และถูกบังคับใช้อย่างเสมอภาคกัน การไม่มีคำสัตย์ในผู้นำ ถือเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด รัฐธรรมนูญต้องทำให้คนดีเข้ามาอยู่ในตำแหน่ง" เลขาฯ พรรคประชาชาติกล่าว 

'สุทิน' ชี้ รบ. 19 พรรคติดกับดักตัวเอง 

ด้านนายสุทิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดึงอำนาจกลับสู่ระบบเดิม ไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาใหญ่ที่ไม่อยากให้มองข้าม คือ รัฐธรรมนูญไทยมักอายุสั้น ใช้ไม่นานมีคนมาฉีกทิ้ง และไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง นายกฯ ไม่ยอมกล่าว ปกป้องรัฐธรรมนูญ การละเมิดแบบโจ่งแจ้งก็กล้าทำ เพราะไม่เห็นรัฐธรรมนูญนั้นศักดิ์สิทธิ์ ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เป็นประประชาธิปไตยแล้ว ต้องทำให้ศักดิ์สิทธิ์ และมีภูมิต้านทาน เพื่อที่คนละเมิดจะได้ไม่ลอยนวล ซึ่งเนื้อหาและรายละเอียด มาตรา 257-256 ระบุจะมีการปฏิรูป 11 ด้าน แต่ไม่ทำสักอย่าง หวังให้เป็นกับดักเผื่อพรรคอื่นเป็นรัฐบาล 

"การปฏิรูปทั้งหมดพวกเขาจะไม่ทำ เพราะไปติดกับดักตัวเอง จากรัฐบาลผสม 19 พรรค ซึ่งทำให้อ่อนแอ พวกเขาต้องแก้ปัญหารายวัน ปัญหาภายในพรรค และการต่อสู้ฝ่ายค้าน ส่วนการทำให้ศักดิ์สิทธิ์นั้น จำเป็นต้องมีบทบังคับ เช่น หากถวายสัตย์ไม่ครบให้ติดคุก 20 ปี เพราะองค์กรที่ตรวจสอบไม่รับเรื่อง ผู้ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ต้องทำอะไร รายละเอียดที่จะเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยนั้นเห็นด้วย แต่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด จะได้ยอมรับมากที่สุด และต้องมีต่อท้ายป้องกันไม่ให้คนมาฉีกของดีด้วย" นายสุทินกล่าว 

แจงกลยุทธ์ ชงญัตติ-รณรงค์ รอ ปชช.สุกงอม ค่อยเช็กบิล

นายสุทิน กล่าวถึงการผลักดันการแก้ไข ว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอให้ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อเป็นกลยุทธ์ชวนทุกพรรคการเมืองมายอมรับร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาแล้วร่วมกันแก้ ซึ่งเป็นการชิงการนำ มีประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐยื่นตาม ให้มีการศึกษาก่อน เป็นการผูกและมัดคอทุกพรรคเข้าด้วยกันให้ยอมรับปัญหา พอวันโหวตหากใครเบี้ยวก็กลายเป็นผู้ต้องหาของสังคม 

สุทิน-แก้รัฐธรรมนูญ

นายสุทิน กล่าวว่า ส่วนวิธีการคงต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. แต่ยังไม่ลงประเด็นย่อย ต้องอดทนจะพูดเรื่อง ส.ว. แต่เมื่อประชาชนสุกงอมเห็นพ้อง ตนจะพูดเรื่องตัด ส.ว.ทิ้ง ท้ายที่สุดคือประชามติ ในบริบทที่เสรี มีส่วนร่วม ไม่ใช่ภายใต้กระบอกปืน ซึ่งผมว่า ควรถาม 2 ข้อคือ รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และ รับหรือไม่รับที่ให้รัฐประหารแก้ไขปัญหาหรือไม่ ซึ่งนี่จะเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดี เพราะการรัฐประหารมักจะมีข้ออ้างว่า ประชาชนยอมรับ หากใครจะฉีกรัฐธรรมนูญอีกก็ให้รู้ไป ส่วนองค์กรตรวจสอบ อะไรไม่ดีต้องตัดทิ้ง 

"ที่ผ่านมาการจะแก้รัฐธธรรมนูญมักต้องนองเลือดหรือไม่ก็ยึดอำนาจ แต่ครั้งนี้อาจไม่เกิดขึ้น หากปลุกเร้าประชาชนให้รับรู้สถานการณ์อย่างถึงที่สุด ทั้งการเคลื่อนในสภาและนอกสภา และพอถึงวันนั้นค่อยเช็กบิลกัน"ประธานวิปฝ่ายค้านระบุ