วันที่ 18 ก.ค. 2566 ในการประชุมคณะกรรมการประสานงาน หรือวิป 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ส.ส.ที่ไม่ได้อยู่ใน 8 พรรค และวิปวุฒิสภา เพื่อหารือทิศทางการพิจารณาบุคคลที่สมควรรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค. นี้
โดยตัวแทนจากวิปฝ่ายต่างๆ ทยอยเข้าประชุม เช่น พรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
และพรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ มนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม สุทิน คลังแสง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงตัวแทนพรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม
ขณะที่อีก 10 พรรคการเมือง ได้ส่งตัวแทน อาทิ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ อรรถกร ศิริลัทธายร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคชาติไทยพัฒนา
โดยก่อนจะเข้าประชุม ผู้สื่อข่าวได้สอบ เอกนัฏ ว่าได้ตัวแทนพรรคก้าวไกล หรือ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ติดต่อขอคะแนนเสียงมาบ้างหรือไม่ ซึ่ง เอกนัฐ ตอบทีเล่นทีจริงว่า ขอดูสายที่โทรมาแล้วไม่ได้รับก่อน แล้วจึงบอกว่า "ยังไม่มี บอกให้เขาติดต่อมาหน่อยสิ"
ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม ในช่วงต้นได้กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้การประชุมเรียบร้อย การอภิปรายและนับคะแนนเสร็จก่อนเวลา ถึง 2 ชั่วโมง เป็นเรื่องที่ดี แต่การประชุมไม่เสร็จสิ้นเพราะไม่ได้ผู้ที่จะเป็นนายกฯ จึงจำเป็นต้องเลือกนายกฯ ทำให้เสร็จสิ้น จึงนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 19 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในข้อหารือของวิป 3 ฝ่ายวันนี้ ต้องจับตาการหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ41 หารือถึงทางออกว่าจะดำเนินการอย่างไร กรณีที่ญัตติใดที่เสนอต่อที่ประชุมและถูกโหวตไม่เห็นชอบแล้ว จะนำกลับมาเสนอซ้ำอีกได้หรือไม่ โดยฝั่ง ส.ว. มองว่าการเสนอชื่อ พิธา เป็นนายกฯ นั้นคือญัตติที่ถูกตีตกไปแล้ว หากจะเสนอญัตติโหวตนายกฯ โดยมีชื่อนายพิธาอีก อาจจะเป็นปัญหาได้ ซึ่งแนวทางออกของเรื่องนี้คือ การเว้นใช้ข้อบังคับการประชุม ที่ต้องให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาดอีกครั้ง