ไม่พบผลการค้นหา
'วันนอร์' คาด 13 ก.ค. เริ่มโหวตนายกฯ 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่พร้อมดูแลผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา วางเวลาอภิปราย ส.ส. 4 ชั่วโมง ส.ว. 2 ชั่วโมง เปิดโอกาสสมาชิกซักถามคุณสมบัติ 'พิธา'

วันที่ 11 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมวิป 3 ฝ่าย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมระหว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และตัวแทนจากพรรคการเมือง เพราะขณะนี้ยังไม่มีวิปฝ่ายค้าน และวิปรัฐบาล โดยที่ประชุมมีข้อสรุปในแนวทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. และคาดว่าจะมีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น.

เบื้องต้นทาง ส.ว. ได้ขอเวลาในการอภิปราย 2 ชั่วโมง ส่วน ส.ส. เปิดให้สมาชิกแต่ละคนจากพรรคการเมืองต่างๆ อภิปรายได้ไม่กำหนดเวลา แต่ทั้งหมดต้องอภิปรายไม่เกิน 4 ชั่วโมง สามารถชี้แจงได้ในกรอบเวลาที่เหมาะสม 

รวมถึงมีการหารือในการรักษาความปลอดภัยให้กับสมาชิกที่เดินทางมาประชุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการประกาศสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งผู้ที่จะมาชุมนุมต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำหนดไว้ และในพื้นที่ที่จัดไว้รองรับผู้ชุมนุม ทางสภาก็จะมีการจัดระบบเสียง และหากตั้งจอให้ได้ ก็จะทำให้ เพราะหากมีความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดความเสียหาย 

"ส่วนบรรยากาศการประชุมในวันนี้ ทุกคนก็ดูเหมือนว่า อยากให้การประชุมในวันที่ 13 ก.ค. เกิดความเรียบร้อยได้ประโยชน์ และได้นายกรัฐมนตรีด้วย" ประธานรัฐสภา กล่าว

ส่วนตามขั้นตอนระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 13 ก.ค. นี้ เริ่มแรกก็จะมีการเสนอชื่อ ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดไว้ จากนั้นก็จะมีการอภิปราย โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ซักถามถึงความเหมาะสม และคุณสมบัติ และจากนั้น ก็จะสอบถามกับสมาชิกว่าต้องการให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะตามข้อบังคับไม่ได้มีกำหนดไว้ หลังจากนั้นก็จะถึงช่วงของการโหวต 

ส่วนหากโหวตรอบแรก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โหวตไม่ผ่าน รวมถึงกรณี นายพิธา หากถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะสามารถแสดงวิสัยทัศน์ก่อนวันโหวต ได้หรือไม่ วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่สามารถพูดล่วงหน้าได้ เพราะไม่ทราบว่าจะโหวตผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่านก็ต้องพิจารณาโดยยึดรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับ และมติที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมาแล้ว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวิปครั้งนี้ มีตัวแทนจากแต่ละฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่าย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สุทิน คลังแสง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ 

พรรคที่ไม่ใช่ 8 พรรคร่วม ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ วิทยา แก้วภราดัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ชัยชนะ เดชเดโชส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ภาคภูมิ บุญประมุข ส.ส.ตาก พรรคพลังประชารัฐ ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปไตยใหม่ 

ขณะที่ตัวแทนวิปวุฒิสภา ได้แก่ มหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. และ วรารัตน์ อติแพทย์ ส.ว.