ไม่พบผลการค้นหา
วิจารณ์แซด กฟผ.จัดเวทีอีไอเอโครงการสายส่งไฟฟ้าลำพูน-สบเมย แค่เป็นพิธีกรรม ผ่าป่าสมบูรณ์ 6 แห่ง-ลุ่มน้ำชั้น 1-ไร้เงาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วม-ประชุมเงียบเหงา นักอนุรักษ์ชี้รองรับโครงการยักษ์ผันน้ำยวมแต่แยกส่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างวันที่ 25-30 มกราคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้จัดประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ลำพูน-สบเมย (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1) โดยเป็นโครงการของ กฟผ.เป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าเชื่อมโยงจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 3 อ.เมืองลำพูน ไปยังสถานีสูบน้ำยวมตอนล่าง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทางรวม 142.5 กิโลเมตร พื้นที่บางส่วนพาดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1ยาว 27.96 กม. และพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่าโซน C)13 ช่วง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 6 ป่า ความยาวรวม 59.5 กม. ได้แก่ป่าเหมืองจี้ ป่าสันสัก ป่าแม่ทา จ.ลำพูน ป่าแม่แจ่ม-ป่าแม่ตื่น อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ป่าอมก๋อย ป่าขุนแม่ลาย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และป่าแม่ยวมฝั่งซ้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 

สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กว่าวว่าชาวบ้านในพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แจ้งว่าไม่พบว่ามีการส่งหนังสือเชิญจากกฟผ. แต่อย่างใด ชาวบ้านเมื่อทราบว่ามีการจัดเวทีต่างสอบถามกัน และต่างรู้สึกกังวลในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และพื้นที่ต้นน้ำ ชาวบ้านได้หารือกันโดยตกลงว่าเป็นการจัดเวทีไม่มีส่วนร่วมของประชาชน ไม่สมควรที่จะเข้าร่วม และได้เตรียมจดหมายที่จะยื่นให้แก่เจ้าของโครงการ ในวันที่ 25 มกราคม ในช่วงเช้า ทราบว่ามีการจัดประชุมที่อำเภอสบเมย มีผู้ได้รับเชิญคือหน่วยงานรัฐ ต่อมาช่วงบ่าย มีการจัดเวทีที่แม่น้ำสองสี บ้านแม่เงา ชาวบ้านได้ไปรอเข้ายื่นจดหมาย แต่พบว่าต้องลงทะเบียนและให้ตรวจโควิด แต่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ต้องการลงทะเบียนเพราะเกรงถูกนำรายเซ็นไปแอบอ้าง จึงไม่ได้เข้าร่วม 

“ชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่าหากจะมีการจัดเวทีจริงต้องเชิญชาวบ้านให้เป็นกิจจะลักษณะ แต่ดูแล้วมีเพียงหน่วยงานรัฐที่ได้รับเชิญเข้าร่วม อาทิ ทหาร ป่าไม้ อุทยาน ประชาชนกังวลว่า EIA ก่อนหน้านี้ ในโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม รูปที่ถูกถ่ายในเวทีมีการนำไปใช้ในรายงาน EIA ว่าชาวบ้านเข้าร่วมแล้ว ทั้งๆ ที่ชาวบ้านคัดค้านและมีข้อกังวลมากมาย ซึ่งเรามีประสบการณ์แล้ว กฟผ.ควรทำหนังสือเชิญชาวบ้าน” ผู้ประสานงานกล่าว 

สะท้านกล่าวว่าชาวบ้านห้วยม่วง ต.แม่สวด อ.สบเมย เมื่อทราบว่าจะมีการจัดเวทีดังกล่าวก็ได้แสดงพลัง ถ่ายรูปลงสื่อสังคมออนไลน์ ว่าประชาชนไม่ได้เข้าร่วมหรือมีกระบวนการมีส่วนร่วมแต่อย่างไร ในวันเดียวกันนี้ ได้มีการจัดเวทีที่ห้องประชุม อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน โดยแทบทั้งหมดเป็นตัวแทนหน่วยงานรัฐ และมีการนำเสนอข้อมูลโครงการเบื้องต้น 

สมเกียรติ มีธรรม ประชาสังคม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ต่างหารือกันถึงความกังวลต่อโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยแทบไม่มีใครได้รับเอกสารหรือข้อมูลว่าจะมีการจัดเวที อย่างไรก็ตามพบว่ามีป้ายและคิวอาร์โค้ดให้ดาวน์โหลดเอกสารโครงการ แต่ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลได้ เช่น หมู่บ้านแม่สอ บ้านแม่ฮองใต้ บ้านห้วยลอก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง (โผล่ง) ซึ่งจำเป็นต้องมีล่ามในการสื่อสารมิเช่นนั้นการมีส่วนร่วมจะเป็นไปไม่ได้เลย 

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่าโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ลำพูน-สบเมย ก่อนหน้านี้มีเอกสารระบุว่าเป็นโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ โดยเป็นโครงการที่คู่กับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) หรือโครงการผันน้ำยวม ลุ่มสาละวินสู่ลุ่มเจ้าพระยา แต่แยกออกเป็นสองโครงการอาจเพื่อให้ดูว่าไม่ใช่โครงการที่มีผลกระทบรุนแรง โดยโครงการผันน้ำของกรมชลประทาน มีการพยายามอธิบายว่าเป็นการขุดอุโมงค์ใต้ดิน ไม่เกิดผลกระทบต่อป่า แต่หากจับคู่กับโครงการสายส่งไฟฟ้าซึ่งมีแนวตีคู่ไปกับอุโมงค์ใต้ดิน จะพบว่ามีการรบกวนพื้นที่ป่าสำคัญอย่างน้อยถึง 6 ป่าสงวน เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของทั้งลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา และลุ่มน้ำสาละวิน 

สำหรับโครงการผันน้ำยวม ก่อนหน้านี้ได้มีการร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานรวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในประเด็นการละเมิดสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน