หน่วยงานรัฐและบริษัทเทคโนโลยีของจีน 28 องค์กรถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐฯ รอบใหม่ โดยบัญชีดำนี้เป็นรายชื่อนิติบุคคลที่ถูกห้ามไม่ให้ซื้อสินค้าจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อน
28 องค์กรของจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำคราวนี้ ได้แก่ สำนักงานความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะของเขตซินเจียง โรงเรียนตำรวจซฺนเจียง และหน่วยงานรัฐเล็ก อีก 19 หน่วยงาน ขณะที่บริษัท Hikvision, Zejiang Dahua Technology (เจ้อเจียง ต้าหัว เทคโนโลยี) และ Megvii Technology ก็อยู่ใน 8 บริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุปกรณ์ส่องสอดประชาชนอย่างเทคโนโลยีจดจำใบหน้า
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ แบนการค้ากับองค์กรของจีน เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ก็เพิ่มรายชื่อบริษัทหัวเว่ยเข้าไปในบัญชีดำ เพราะเกรงว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีของหัวเว่ยจะเป็นเครื่องมือในการสอดแนมให้กับรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า 28 องค์กรที่ถูกขึ้นบัญชีดำคราวนี้มีเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการกดขี่ กักขังชาวอุยกูร์จำนวนมากโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสอดส่องชาวอุยกูร์ คาซัก และคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม
การขึ้นบัญชีดำบริษัทเทคโนโลยีของจีนอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน อย่างน้อยในระยะสั้น เนื่องจากจีนตั้งเป้าว่าบริษัทเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เหล่านี้จะขึ้นมาเป็นธุรกิจดาวเด่นของจีนในอนาคต โดยเฉพาะบริษัท Hikvision ที่เรียกตัวเองว่าเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์สอดส่องด้วยวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าตลาดประมาณ 42,000 ล้านดอลลาร์ โดยรายงานผลกระกอบการเมืองเดือนส.ค.เปิดเผยว่า รายได้ทั้งหมดของ Hikvision มีมากถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ และเกือบร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดมาจากต่างชาติ
ทั้งนี้ ส่วนประกอบของการฝึกฝนอัลกอริธึมการเรียนรู้เอไอยังผลิตโดยบริษัทอเมริกันอย่างบริษัท Intel, Movidius และ Nvidia ดังนั้น การห้ามบริษัทอเมริกันขายสินค้าให้บริษัทของจีนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่มาตรการสกัดไม่ให้บริษัทของจีนเรียนรู้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ยิ่งทำให้จีนพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อใช้เองภายในประเทศได้โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทของสหรัฐฯ อีกต่อไป
เมื่อเดือนพ.ค.ที่สหรัฐฯ ประกาศให้บริษัทหัวเว่ยอยู่ในบัญชีดำ ส่งผลให้กูเกิลจะต้องขออนุญาตรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนที่ขายระบบแอนดรอยด์ให้กับหัวเว่ยได้ ส่งผลให้หัวเว่ยก็ประกาศว่า จะพัฒนาซอฟต์แวร์ปฏิบัติการของตัวเองเพื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์ของหัวเว่ย จึงทำให้เห็นว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่หันมาสู้กับเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น จะบีบให้ผู้บริโภคจะต้องเลือกว่าจะใช้สินค้าอเมริกันล้วนหรือจีนล้วน
รัฐบาลจีนกดขี่ชาวอุยกูร์อย่างไรบ้าง?
ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์มีประชากรชาวอุยกูร์ประมาณร้อยละ 45 และมีชาวจีนฮั่นเข้าไปอยู่ประมาณร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจำนวนชาวจีนฮั่นที่อพยพเข้าไปอยู๋ในพื้นที่ซฺนเจียงอุยกูร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับที่จีนประกาศกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อพุ่งเป้าไปที่ชาวอุยกูร์โดยเฉพาะ ส่งผลให้ชาวอุยกูร์กลัวว่าจีนจะทำให้วัฒนธรรมของชาวอุยกูร์เลือนหายไป
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC และกลุ่มนักสิทธิอื่นๆ เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์จำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุด มีการจับชาวอุยกูร์มากกว่า 1 ล้านคนเข้าค่ายกักกันที่กระจายอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ผู้ที่ออกจากมากค่ายกักกันเปิดเผยว่า พวกเขาถูกบังคับให้เลิกนับถือศาสนาอิสลาม และต้องใช้ภาษาจีนแมนดารินเท่านั้น อีกทั้งยังมีการสอนแนวคิดของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนอ้างว่า ค่ายดังกล่าวเป็น “ศูนย์ฝึกอาชีพ” เพื่อช่วยให้ชาวอุยกูร์หางานได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสในการปรับตัวเข้าสู่สังคมจีนได้มากขึ้น พร้อมต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่ง
ด้านไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการะกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกมาประณามว่า รัฐบาลจีน “เรียกร้องให้พลเมืองในประเทศตัวเองสวดมนต์บูชารัฐบาล แทนที่จะสวดมนต์ต่อพระเจ้า” ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงจับชาวมุสลิมอุยกูร์เข้าไปในค่ายกักกัน และจับบาทหลวงคริสต์เข้าคุก
เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มากกว่า 20 ประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนที่กดขี่ชาวอุยกูร์และคนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่นับถือศาสนาอิสลาม