ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ต่างประเทศและทูตสหรัฐฯ ประจำ UN จะประกาศเรื่องสหรัฐฯ ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ต่อที่ประชุม วันอังคารที่ 19 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ตรงกับวันที่ 20 มิ.ย. เวลาไทย เหตุไม่พอใจคณะมนตรีฯ มีอคติต่ออิสราเอล

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมด้วยนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ จะยืนยันต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) อย่างเป็นทางการว่า สหรัฐฯ จะถอนตัวจากการเป็นสมาชิก โดยระบุว่า UNHRC มีอคติต่อรัฐบาลอิสราเอลซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นพันธมิตร 

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยประท้วง UNHRC ด้วยการไม่รับรองมติที่ประชุมเมื่อเดือน พ.ค.ที่สั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง กรณีกองทัพอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการปราบปรามผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา และ UNHRC ยังผลักดันให้มีการรับรองปาเลสไตน์ในฐานะสมาชิกสังเกตการณ์ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย

แหล่งข่าวในรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยกับรอยเตอร์และวอชิงตันโพสต์ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่พอใจท่าทีของ UNHRC จึงได้พิจารณาถอนสหรัฐฯ จากการเป็นหนึ่งใน 47 ประเทศสมาชิกของ UNHRC 

สื่อต่างประเทศระบุว่า การประกาศถอนสหรัฐฯ จากการเป็นสมาชิก UNHRC เป็นอีกหนึ่งความถดถอยของสหรัฐฯ ด้านความร่วมมือกับประชาคมโลก เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย 'อเมริกาต้องมาก่อน' ของทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมาแล้ว ส่งผลกระทบต่อการสานต่อภารกิจของนานาประเทศที่เคยให้คำมั่นสัญญากันไว้

Zeid Raad al Hussein.jpg

เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้หนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของทรัมป์ว่านำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยล่าสุด ข้าหลวงใหญ่ฯ ได้ประณามการบังคับใช้นโยบายปราบปรามผู้อพยพ Zero Tolerance ของทรัมป์ ซึ่งมีการแยกกักตัวเด็กและผู้ปกครองที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยไม่มีเอกสารรับรองอย่างเป็นทางการ และเด็กที่ถูกนำไปกักตัวที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวมีอายุต่ำกว่า 15 ปี การพรากเด็กจากผู้ปกครองถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กเหล่านี้ 

นโยบายแยกเด็กจากผู้ปกครองที่เป็นผู้อพยพ ไม่เพียงแต่ถูกวิจารณ์จาก UNHRC เท่านั้น แต่สมาชิกพรรครัฐบาลรีพับลิกันหลายราย รวมถึงลอรา บุช อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ซึ่งเป็นภริยาจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดี และเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยาของทรัมป์เอง ซึ่งดำรงตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลข 1 คนปัจจุบัน ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ 

อย่างไรก็ตาม การถอนตัวจาก UNHRC ของสหรัฐฯ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะจอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยถอนตัวจากการเป็นสมาชิก UNHRC มาก่อน หลังจากที่สหรัฐฯ ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานหลังเหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐฯ 9/11 เมื่อปี 2544 จนกระทั่งบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต นำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่การเป็นสมาชิก UNHRC อีกครั้งเมื่อปี 2552

ที่มา: Bloomberg/ Reuters/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: