ไม่พบผลการค้นหา
ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ส่งจดหมายแจ้งคณะทำงานและเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าจะขอยุติบทบาทการทำงานในเดือนกันยายนปีหน้า และองค์กรสากลระบุว่าเป็นภาพสะท้อนภาวะถดถอยของสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ประจำสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ซึ่งรับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ.2557) และมีกำหนดจะพ้นวาระในเดือนกันยายน 2018 ประกาศว่าจะไม่ขอดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 โดยระบุว่า ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกปัจจุบันทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปได้ยาก และหากจะทำงานต่อก็เสี่ยงกับการที่จะต้องคุกเข่ายอมรับข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเงียบเฉยต่อคำแก้ต่าง กระทบต่อความมีอิสระในการทำงานและความน่าเชื่อถือของเสียงที่ควรจะเป็นตัวแทนของทุกๆ คน

ด้านนายสเตฟาน ดูจาริก โฆษกของเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เปิดเผยกับเว็บไซต์ด้านนโยบายต่างประเทศ Foreign Policy โดยยืนยันว่าข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนได้หารือเรื่องที่จะไม่รับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 กับนายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติคนปัจจุบัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนายกูแตร์รีชไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ทั้งยังสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าวอีกด้วย 

ขณะที่นายฟิลิปป์ โบโลปิยง รองผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ที่น่ากังวลภายในองค์การสหประชาชาติเอง เพราะประเทศสมาชิกที่เคยมีบทบาทสำคัญด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนเริ่มลดบทบาทลง และจะเห็นได้ว่าข้าหลวงใหญ่ฯ UNOHCHR คนปัจจุบัน เป็นเพียงไม่กี่คนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของประเทศต่างๆ ที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลักดันคำสั่งห้ามพลเมืองจากประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ แต่นายทรัมป์ไม่สนใจคำวิจารณ์ ทั้งยังเดินหน้าตัดงบประมาณซึ่งสหรัฐฯ เคยสนับสนุนให้แก่โครงการต่างๆ ของสหประชาชาติอีกด้วย

จับตาประชุมผู้นำอียูแก้วิกฤตผู้ลี้ภัยทะลักเข้ายุโรป

ส่วนเว็บไซต์ดอยช์เวลส์ของเยอรมนี รายงานว่าเซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์แค่รัฐบาลสหรัฐฯ แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกถาวรของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาของรัฐบาลเมียนมา ถูกวิจารณ์ว่าได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเมียนมา และเป็นประเทศทรงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย แต่กลับไม่ดำเนินการกดดันอย่างที่ควรจะทำ ทั้งยังมีกรณีรัสเซียใช้กำลังทหารแทรกแซงดินแดนไครเมียจนแยกตัวจากยูเครน และการที่สหภาพยุโรป (อียู) มีนโยบายสนับสนุนหน่วยลาดตระเวนชายฝั่งของลิเบียให้สกัดและส่งผู้ลี้ภัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลับประเทศต้นทาง แทนที่จะปล่อยให้ไปขึ้นฝั่งในประเทศแถบยุโรป 

เนื้อหาในจดหมายแสดงเจตจำนงไม่รับตำแหน่งสมัยที่ 2 ของเขาระบุด้วยว่า ปี 2017 เป็นปีที่การปฏิเสธและละเลยคุณค่าของสิทธิมนุษยชนกลายเป็นกระแสโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่โหดร้ายและน่าเศร้า แต่ก็ยังมีเวลาอีกหลายเดือนกว่าที่เขาจะยุติบทบาท และขอยืนยันว่าเขาจะผลักดันให้ทั่วโลกตระหนักถึงคุณค่าของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อไป เพราะในปีหน้าจะครบรอบ 70 ปีที่ประกาศใช้ปฏิญญาดังกล่าว

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ยูเอ็นดิสแพทช์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับสหประชาชาติ ระบุว่าตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ UNOHCHR เป็นตำแหน่งที่ได้รับการเสนอชื่อโดยตรงจากผู้ที่เป็นเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ และมีวาระการดำรงตำแหน่งสมัยละ 4 ปี มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างเป็นอิสระและตรงไปตรงมา ไม่ขึ้นตรงกับประเทศมหาอำนาจที่เป็นสมาชิกถาวรยูเอ็น และที่ผ่านมาอดีตข้าหลวงใหญ่ฯ ด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนก็เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของสหรัฐฯ มาก่อน แต่ไม่เคยมีรัฐบาลของสหรัฐฯ ยุคใดที่เพิกเฉยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนเท่ากับสมัยของนายทรัมป์ ทำให้การทำงานด้านนี้เป็นเรื่องที่ยากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน เป็นเจ้าชายแห่งราชวงศ์จอร์แดนพระองค์หนึ่งซึ่งมีผลงานด้านการทูตและการปกป้องสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเข้ารับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนในปี 2014 แทนนางนาวี พิลเลย์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนจากประเทศเซาท์แอฟริกา ทำให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของยูเอ็นที่ห้ามใช้ยศหรือฐานันดรนำหน้าชื่อผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในสหประชาชาติ จึงใช้คำนำหน้าว่า 'นาย' ระหว่างปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอด และเขายังเป็นข้าหลวงใหญ่ฯ ด้านสิทธิมนุษยชนคนแรกที่เป็นมุสลิมและมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง