ไม่พบผลการค้นหา
ศาลในประเทศอิหร่านได้สั่งจำคุกผู้คนแล้วกว่า 400 คนในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงที่ผ่านมา โดยมีโทษสูงสุดอยู่ที่จำคุก 10 ปี

อาลี อัลกาซี เมห์ หัวหน้าฝ่ายตุลาการของกรุงเตหะรานได้กล่าวว่า กลุ่มผู้พิพากษาได้ติดสินคดีต่อ “ผู้ก่อจลาจล” ซึ่งเป็นคำที่เจ้าหน้าที่ใช้เรียกผู้ชมนุมประท้วง ที่ท้าทายอำนาจของรัฐบาลอิสลามของอิหร่าน

“160 คนถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 5-10 ปี ในขณะที่อีก 80 คนถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 2-5 ปี และมีอีก 160 คนที่ถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี” อัลกาซี เมห์ กล่าว

กรุงเตหะรานเป็นเพียงหนึ่งในจังหวัดทั้งหมด 31 จังหวัดทั่วประเทศ จึงเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ที่ต้องโทษจำคุกจะสูงกว่านี้มาก ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรสหประชาชาติประมาณการไว้ว่ามีผู้ชุมนุมมากกว่า 14,000 คนที่ถูกจับกุมทั่วประเทศนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย.

จุดเริ่มต้นของการประท้วงมีที่มาจากการเสียชีวิตของ มาซา อามินี หญิงชาวอิหร่านเชื้อสายเคิร์ดที่ถูกทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นโคม่าโดยกลุ่ม “ตำรวจศีลธรรม” เพียงเพราะใส่ผ้าคลุมศีรษะไม่ถูกต้อง แต่ในเวลาต่อมาการชุมนุมได้ขยายตัวเป็นการลุกฮือของประชาชนครั้งใหญ่ โดยมีความไม่พอใจเรื่องการกดขี่โดยรัฐบาล ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวจากเวทีโลกเป็นประเด็นสำคัญ

เจ้าหน้าที่โต้ตอบผู้ชุมนุมเหล่านั้นด้วยการใช้กำลัง มีการยิงและทุบตีผู้ชุมนุม สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า มีคนกว่า 300 คนที่เสียชีวิตในการปราบปราม ซึ่งรวมถึงเด็กอย่างน้อย 40 คนด้วย

นอกจากนี้ อิหร่านยังทำการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อควบคุมการชุมนุม และยังมีการลงโทษในที่สาธารณะเพื่อข่มขู่ประชาชนในประเทศอีกด้วย ดังเช่นในวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ธ.ค.) ซึ่งมีการประหารชีวิตชายวัย 23 ปีโดยการแขวนคอ

ไดอานา เอลธาเวย์ รองผู้อำนวยการขององค์การนิรโทษกรรมสากลในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกากล่าวว่า การประหารชีวิตเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าระบบตุลาการของอิหร่านเป็น “เครื่องมือในการกดขี่และแพร่กระจายความกลัวในกลุ่มผู้ชุมนุมที่กล้าที่จะออกมาท้าทายอำนาจที่มีอยู่”

องค์กรนิรโทษกรรมสากลเชื่อว่ามีคนประมาณ 20 คนที่อยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับโทษประหารเนื่องจากข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่สำหรับชาวอิหร่าน พวกเขามีความกลัวว่าอัตราที่ผู้ชุมนุมถูกตัดสินโทษประหารชีวิตและการนำการประหารชีวิตโดยการแขวนคอในที่สาธารณะกลับมาใช้ เป็นสัญญาณที่เตือนว่าอาจมีการประหารชีวิตหมู่ในเร็วๆ นี้

Fifpro หรือสหภาพนักฟุตบอลสากลกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า พวกเขาตกใจอย่างยิ่งจากการรายงานว่านักฟุตบอลมืออาชีพ อามีร์ นัสร์ อะซาดานี อาจต้องโทษประหารชีวิต ภายหลังจากที่เรียกร้องให้ผู้หญิงในประเทศได้รับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศ “เราอยู่เคียงข้างอามีร์และเรียกร้องให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตเขาทันที” Fifpro แถลง


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/dec/13/iran-jails-400-for-up-to-10-years-over-widespread-uprisings?fbclid=IwAR2WXi6JC-Pbm-Kst0kWpP8rrYexDXnjRtfPXp0GfxM_LRxntWbereC1d0g