ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกานัดกลุ่มพลเมืองโต้กลับ 22 มิ.ย. ฟังคำพิพากษาฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ และพวกในนาม คสช. รวม 5 คนฐานเป็นกบฏจากการยึดอำนาจ หลังศาลอุทธรณ์เคยยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง ชี้ คสช.นิรโทษกรรมตัวเองไว้ใน รธน.

นายอานนท์ นำภา ทนายความอาสาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 มิ.ย. เวลา 09.30 น. ศาลฎีกามีหมายนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1805/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 1760/2558 ที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และกลุ่มพลเมืองโต้กลับรวม 15 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กับพวกรวม 5 คน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ฐานเป็นกบฏ ซึ่งตนจะไปฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง 

โดยผลของคำพิพากษาคาดว่ามี 2 ทาง คือ 1.ศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าไม่รับฟ้อง เนื่องจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจแล้วนิรโทษกรรมตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว และ 2.ต้องมีการพิจารณาคดีก่อน ซึ่งต้องมีการสืบพยานและหลักฐานต่อไป

นายอานนท์ ระบุว่า ส่วนตนไม่ทราบว่า จะออกหน้าไหน โดยอยากให้มีการวางบรรทัดฐานเอาไว้ต่อไปว่า คณะรัฐประหารเมื่อยึดอำนาจแล้วนิรโทษกรรมตนเองจะต้องมีความผิดหรือไม่ หรือต้องมีการพิจารณาคดีก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาในคดีที่นายพันธ์ศักดิ์ และพวกในนามกลุ่มพลเมืองโต้กลับโดยฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในข้อหาร่วมกันล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และสะสมกำลังพลและอาวุธเพื่อเป็นกบฏ  

โดยศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยให้เหตุผลว่า แม่้ฝ่ายโจทก์จะยื่นอุทธรณ์ว่า คสช.ออกกฎหมายมาตรา 47 และมาตรา 48 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.25557 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดหลักประชาธิปไตยและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และความปรารถนาของประชาชน ดังนั้น คสช.จึงไม่สามารถอ้างกฎหมายสองมาตรานี้ยกเว้นความผิดแก่ตัวเองได้นั้น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่มีอำนาจในการไต่สวน อีกทั้งในมาตรานี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำ ทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ของหัวหน้าและ คสช. รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือ คสช. หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือ คสช. อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงด้วยเหตุนี้ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า การกระทำใด ๆ ของ คสช.ย่อมถูกต้องตามกฎหมาย 

ส่วนข้ออุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ที่ว่า การออกฎหมายในมาตราดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องแยกส่วนกันในการพิจารณา ไม่เกี่ยวข้องกับคำร้องของฝ่ายโจทก์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง