นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า 'ไม่มีปัญหา' กรณีที่มีรายชื่อนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศและ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ในรายชื่อ ส.ว.สำรอง ในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังมีตำแหน่งอยู่ ทำให้มีคำถามถึงความไม่เป็นกลาง โดยนายวิษณุกล่าวว่า เมื่อถึงเวลาที่ได้รับตำแหน่งก็จะต้องลาออกจากตำแหน่งที่อยู่ในขณะนั้นก่อน และสามารถสละสิทธิ์ได้ แต่ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่ง ส.ว.ได้อีกแล้ว
นายวิษณุ กล่าวถึงรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ว่า การตั้งคณะกรรมการสรรหาต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 9-12 คน ซึ่งต้องเป็นกลางทางการเมือง และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบไปด้วย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สมาชิก คสช. โดยมี นายวิษณุ เครืองาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อเสนอรายชื่อบุคคลจากสายงานต่างๆ ด้านละ 50 คน รวมถึงยังมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธาน สนช. แต่ได้ลาออกจากคณะกรรมการสรรหาไปก่อน
นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ได้มีการประชุมและพิจารณาในแต่ละรายชื่อ จากรายชื่อทั้งหมดจนเหลือ 395 รายชื่อ โดยให้ 194 รายชื่อเป็นตัวจริงและให้ 50 รายชื่อเป็นบุคคลสำรอง จากนั้นได้เสนอรายชื่อทั้งหมดไปยัง คสช.เพื่อพิจารณา โดยไล่ดูทีละรายชื่อพร้อมทั้งบอกประวัติหากมีรายชื่อใดที่มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าในชั้นใด คณะกรรมการสรรหา จะต้องออกจากห้องประชุมไปก่อน หรือ งดออกเสียง ซึ่งทั้งหมดมีการจดบันทึกในรายงานการประชุม ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหาในราชกิจจานุเบกษา เพราะก่อนหน้านี้หากประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหาอาจจะเกิดการวิ่งเต้นได้ และพิจารณารายชื่อจะไม่มีการเสนอชื่อตนเอง
นายวิษณุ ยังกล่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้นายกฯ ยังไม่ได้ทาบทามตนเองเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี แต่ตนเองได้เตรียมกฎหมายสำหรับรัฐบาลชุดนี้ เพื่อเป็นประโยชน์กับรัฐบาลชุดหน้า พร้อมย้ำว่านายกฯ ไม่สามารถใส่ชื่อตนเองในคณะรัฐมนตรีโดยไม่ถามความเห็นได้ เนื่องจากจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติก่อน ไม่มีข้อยกเว้น เหมือนบทเฉพาะกาลในยุค คสช. ที่ผ่านมา ส่วนจะต้องลาออกจากกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัยหรือไม่ เพื่อไม่ให้ขัดคุณสมบัติรัฐมนตรีในรัฐบาลหน้านั้น นายวิษณุ พูดติดตลก ว่าลาออกจาก ตำแหน่งรองนายกฯ ตำแหน่งเดียวง่ายกว่า
กรรมการสรรหาตัวเองเป็น ส.ว.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดนี้แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จํานวนไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 12 คน มีหน้าที่ดําเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ได้ 400 คนแล้วส่งให้คสช.คัดเลือกให้เหลือ 194 คนรวมกับผู้นำเหล่าทัพรวม 200 คน โดยคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ชุดนี้ได้สรรหาจนตัวเองได้รับเลือกเป็น ส.ว. ประกอบด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
พี่น้องกรรมการสรรหา - คสช. - ติด ส.ว.
ขณะเดียวกัน ส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และ คสช. ยังได้รับเลือกเป็น ส.ว. ประกอบด้วย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร นายสม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายนายวิษณุ เครืองาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: