ไม่พบผลการค้นหา
ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการ แถลงข่าวเปิดตัวเครือข่ายจับตาเลือกตั้ง 'FFFE' เรียกร้องให้จัดเลือกตั้งอย่างเสรี ไม่ใช่พิธีกรรมสืบทอดอำนาจของคสช.

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันจัดแถลงข่าวเปิดตัวเครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ หรือ FFFE (Free, Fair & Fruitful Election) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโน ตัวแทนคนส. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเปิดตัวเครือข่ายว่า การจัดเลือกตั้งครั้งนี้มีความชัดเจนแล้วว่าจะเกิดขึ้น เชื่อว่าอย่างน้อยจะเกิดขึ้น ในวันที่ 24 ก.พ. 2562 เนื่ิองจากการออกมาเคลื่อนไหวและการตั้งพรรคจากคนในรัฐบาล

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องประกอบไปด้วย 1.การเลือกตั้งที่เสรีเปิดโอกาสให้ประชาชนสะท้อนปัญหา 2.เป็นธรรรม กลับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใด รวมถึงการให้ความเป็นธรรมกับพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งพรรคทั้งสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนคสช. 3.มีผลในทางปฏิบัติ คือปัญหาของประชาชนต้องได้รับการตอบสนอง

"เราไม่ต้องการให้เลือกตั้งเป็นเพียงการขับเคี่ยวของพรรคการเมือง แต่หวังว่าการเลือกตั้งจะมีความเป็นธรรมและจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในช่วง 10 ปี " ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

โดยทางเครือข่ายได้มีแนวทางในการจัดกิจกรรมเครือข่าย FFFE จะจัดกิจกรรมแรก “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย” โดยมีการเชิญตัวแทนพรรคการเมือง 7 พรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคเสรีรวมไทย ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้าน น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวถึงประเด็นสิทธิเสรีภาพกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่า ตั้งแต่การรัฐประหารปี2557 เป็นต้นมา นักการเมือง นักกิจกรรม นักวิชาการและประชาชนจำนวนมากที่แสดงออกต่อต้านรัฐบาล คสช. ถูกตั้งข้อหาปิดปากและมีการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารกระทั่งทุกวันนี้ อาทิการดำเนินคดีกลุ่มคนอยากเลือก 130คน จึงเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าหากบรรยากาศเช่นนี้ดำเนินต่อไป การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็จะไร้ความหมาย และหากผลการเลือกตั้งจากบริบทเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ ประเทศจะเดินหน้าต่ออย่างไร

เลือกตั้ง-ชลธิชา-คนอยากเลือกตั้ง.JPG

(ชลธิชา แจ้งเร็ว)

"เราต้องการมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะอยู่ในหลักการ และเปิดให้ทุกภาพส่วน สะท้อนปัญหาอย่างเปิดเผย ปราศจากการใช้อำนาจรัฐคุกคาม" ชลธิชา กล่าวว่า

นายณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน จาก iLaw กล่าวว่า การมีอยู่ของมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งใดๆก็ได้นั้น ถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่อาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เสรีและเป็นธรรม จากการติดตามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากประกาศและคำสั่งต่างๆ iLaw เห็นว่า อย่างน้อย 35 ฉบับจะเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม เราจึงเสนอให้ยกเลิกได้แล้ว

คนอยากเลือกตั้ง-FFFE-iLaw.JPG

(ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน)

นางศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนภาคแรงงาน กล่าวถึงการที่พรรคการเมืองไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างเสรีตลอด4 ปีมานี้ ทำให้เกิดข้อกังวลว่า นโยบายที่จะนำมารณรงค์หาเสียงจะมาจากไหน และจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้หรือไม่ หากไม่รีบปลดล็อกการเมือง ก็เกรงว่านโยบายที่ได้มาจะไม่ตอบโจทย์ อย่างไรก็ดีหวังว่าพรรคการเมืองต่างๆจะนำปัญหาที่ประชาชนสะท้อนนำไปกำหนดเป็นนโยบาย

_MG_9261.JPG

เช่นเดียวกับนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เรียกร้องให้การจัดเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างเสรี ไม่ใช้อำนาจรัฐและกองทัพเข้ามาแทรกแซง ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นเพียงพิธีกรรมในการสืบทอดอำนาจของคสช.