จากกระแสการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธาน กลุ่ม กปปส. ที่นายสุเทพ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าจะมีการจัดตั้งพรรคการเมือง ใหม่นั้น
นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และจะต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย พร้อมไม่กังวลที่กรณีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกพรรคที่ยังมีบางส่วนศรัทธาในตัวนายสุเทพ เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะตัดสินใจ จะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อหรือไม่
แต่ตอนนี้สมาชิกพรรค ยังไม่มีบุคคลใดลาออก และแนวความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ได้ยืนหยัดในแนวคิดและอุดมการณ์มาโดยตลอด ที่พร้อมสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ กับนายสุเทพนั้น อาจมีแนวคิดที่ต่างกันในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แม้จะมีจุดร่วมในหลายๆ เรื่อง
ส่วนกรณีที่มีกลุ่มออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตั���มองว่าเสียงสะท้อนแทนประชาชนอีกจำนวนมาก แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน อยากให้ คสช. ได้ผ่อนคลายกฎหมายพิเศษ และเปิดกว้างในการรับฟังให้มากขึ้น และเชื่อว่าจะไม่สั่นคลอนต่อรัฐบาลและ คสช. เพราะเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนส่วนหนึ่งเท่านั้น และรัฐบาลต้องลดเงื่อนไขที่ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคไปสู่ความขัดแย้ง และให้ความสำคัญของความน่าเชื่อถือของโรดแมปด้วย
นายอภิสิทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่การเห็นชอบบุคคลที่ควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาทั้งหมดจะต้องมาทบทวนเกี่ยวกับปัญหาที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก และให้เกิดความราบรื่นในการสรรหารอบใหม่
นอกจากนี้ ในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินตามโรดแมปได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่า กกต. ชุดเก่าสามารถทำหน้าที่ไปก่อนได้ แม้จะมีกระแสข่าว การลาออก ของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. แต่การลาออกมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว
ส่วนที่มีบางฝ่ายมองว่าการกำหนดคุณสมบัตของ กกต.ทั้ง 7 คน นั้นสูงเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคการสรรหา ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เป็นประเด็นหลัก เพราะมีบุคคลที่มีคุณสมบัติอีกมากมาย ไม่กล้าเข้ามาดำรงตำแหน่ง พร้อมมีความเห็นว่า กรรมการที่สรรหา ต้องสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้บุคคลอื่นๆ สามารถกล้าที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง
ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกัน ที่บุคคลซึ่งผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหามาเรียบร้อยแล้ว ทั้ง 7 ว่าที กกต. แต่ไม่มีใครที่เหมาะสมพอ ที่ สนช. จะเห็นชอบได้เลย
ถ้าผลการลงมติออกมาว่ามีทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบน่าจะสมเหตุสมผลมากกว่า การที่มีข่าวว่า สนช. ไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต. ทั้ง 7 คน เพราะผู้ได้รับการสรรหาส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งนั้น น่าจะไม่ใช่เหตุผลหลักในการพิจารณาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ เพราะ กกต.เกือบทุกชุดที่ผ่านมา ก็มีทั้ง กกต. ที่มีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์ในการจัดสรรการเลือกตั้งคละเคล้ากันไป
นายองอาจ กล่าวอีกว่า ถึงแม้การสรรหา กกต. ชุดใหม่จะไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งช้าหรือเร็วโดยตรง เพราะถึงแม้ยังไม่มี กกต. ชุดใหม่ กกต. ชุดเก่าก็ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปตามปกติจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ เข้ามาทำงาน แต่การได้ กกต. ชุดใหม่ล่าช้าออกไปมากเกินไป ก็อาจส่งผลทำให้การทำหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริต และเที่ยงธรรม เกิดปัญหาได้
ถ้าสามารถสรรหา กกต.ชุดใหม่ได้ตามเวลาที่เหมาะสม ก็จะทำให้การทำงานของ กกต. ชุดใหม่มีเวลาเพียงพอในการสานงานต่อและก่องานใหม่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย กกต.และ กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.
นอกจากนี้ นายองอาจ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองรวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่ประชาชนต่างตั้งความหวังอยากเห็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้งอย่าง กกต. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม
การได้มาซึ่ง กกต. จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้มีอำนาจไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซงโดยเด็ดขาด และไม่ควรมีการกระทำใดๆ ทั้งจากผู้มีอำนาจ และเครือข่ายที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยขึ้นได้ เพราะเมื่อสังคมเคลือบแคลงสงสัยการได้มาซึ่ง กกต.และการทำหน้าที่ของ กกต. ก็จะก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกไม่รู้จบ ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าประเทศไทยอย่างแน่นอน