‘บุญมี สุระโคตร’ หรือ ‘ลุงบุญมี’ คือผู้ขับเคลื่อนการทำนาเกษตรอินทรีย์ จังหวัดศรีสะเกษ มาอย่างยาวนาน ก่อนคว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาทำนา เมื่อปี 2554 มาครอง พร้อมกับดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง คอยเติมเต็มขีดความสามารถของชาวบ้าน และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรหลุดพ้นจากการพึ่งพิงรัฐ
เกษตรกรรุ่นใหญ่เล่าเท้าความเรื่อง ‘เกษตรอินทรีย์’ ในแบบฉบับของตนเองว่า ความเป็นนาเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพราะสิ่งที่ต้องทำจริงๆ มีอยู่แค่ 2 อย่างคือ เอาตัวเข้าไปหาธรรมชาติ และใช้ใจในการทำงาน เมื่อใจของเกษตรกรพร้อมเมื่อไหร่ ความเป็นอินทรีย์จะก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค
“นาเกษตรอินทรีย์ในแบบของผม ใจต้องเป็นอินทรีย์ ต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ อย่างแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ ความปลอดภัยของเกษตรกร และระบบนิเวศน์ ซึ่งจะส่งต่อไปยังผู้บริโภคในการได้สินค้าที่ดี และปลอดภัย
เมื่อก่อนคนจะไม่กล้าทำ เพราะกลัวจะยาก หรือได้ส่วนต่างไม่คุ้มค่า แต่ปัจจุบันผมทำเป็นต้นแบบ และประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ทุกวันนี้เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ของศรีสะเกษก็เริ่มรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยไม่ต้องให้ราชการเข้ามาช่วย หันมาขับเคลื่อนภาคเกษตรอินทรีย์ด้วยภาคประชาชนเองกันมากขึ้น”
หากต้องการให้เกษตรอินทรีย์มีความมั่นคงมากขึ้นลุงบุญมีบอกว่า การพึ่งพากำลังจากผู้ผลิตอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะผู้บริโภคต้องเข้าใจถึงความเป็นอินทรีย์ด้วย
“หากต้องการ��ห้เกิดความยั่งยืนของภาคการเกตรแบบแท้จริง ผู้บริโภคต้องเข้าใจเกษตรอินทรีย์ด้วย ต้องมองเห็นความพิถีพิถัน และละเอียดอ่อนในทุกกระบวนการ ผมอยากเห็นภาพนี้เกิดขึ้นกับทุกคนในประเทศไทย ถ้าทุกภาคส่วนเข้าใจความเป็นเกษตรอินทรีย์ก็จะเกิดความมั่นคงขึ้นมาจริงๆ เพราะสุดท้ายแล้วอาหาร คือความมั่นคงทางอาหารของชาติบ้านเมือง
แน่นอนว่า ชาวนารุ่นก่อนๆ เขาลำบากกัน แต่ปัจจุบันไม่ถึงขนาดนั้นแล้ว เพราะมีนวัตกรรม เครื่องจักรกล หรือตัวช่วยอื่นๆ มาทดแทน เพราะฉะนั้นชาวนาก็เริ่มเห็นตรงกันแล้วว่า อาชีพที่มั่นคงจริงๆ คือเกษตรกร หากตกงานก็ยังมีอาหารกิน มีกบ มีปู มีปลา มีข้าว”
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสำทับอีกด้วยว่า คนทำเกษตรอินทรีย์ได้เปรียบกว่าคนทำงานประเภทอื่นเป็นไหนๆ เพราะตกงานยังมีกิน แถมเมื่อยิ่งรู้จักผลผลิตภัณฑ์ของตนเองดีพอแล้ว ก็สามารถการันตีได้ว่า ไม่จนแน่นอน หากรู้จักนำผลผลิตทางการเกษตรไปแปรรูป
“สินค้าเกษตรทุกตัวสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย แค่ข้าวอย่างเดียวก็สามารแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ข้าวสารเป็นแป้ง เป็นเส้น เป็นน้ำมันรำข้าวอินทรีย์ เป็นได้สารพัด มันสร้างมูลค่าเพิ่มได้ นั่นคือความมั่นคงที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเกษตรกรไม่ต้องกลัวว่า จะไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ถ้าทำเกษตรอินทรีย์แล้วทุกคนจะมีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี ทุกอย่างก็ดีตามไปด้วย
เดี๋ยวนี้กลุ่มของเรามีลูกหลานรุ่นใหม่กลับมาทำเกษตรก็มีความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติ สุดท้ายก็แบ่งปันความเป็นอินทรีย์ต่อไปยังผู้อื่น แล้วรายได้ก็จะมาตามเอง ทุกวันนี้คนกินเพิ่มขึ้น แต่สินค้าเกษตรน้อยลง ถ้าเราทำออกมาดี ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แน่นอนว่ารายได้มันเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว” ลุงบุญมีแนะนำ
ก่อนหน้านี้ ลูกชายของลุงบุญมีไปทำงานหาประสบการณ์ในกรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายกลับมาช่วยงานของครอบครัวที่จังหวัดศรีสะเกษ ลุงบุญมีจึงบอกว่า ความสุขแท้จริงของการทำงานไม่ได้อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการได้อยู่กับครอบครัว และแบ่งปันสิ่งดีๆ กับผู้อื่น
“เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้งอย่างเดียว แต่มีสิ่งอื่นเป็นองค์ประกอบ เช่นการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม กับครอบครัว ได้แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่น เป็นความสุขที่เราจับต้องได้ และไม่ทำให้เราลำบาก การที่ได้ลูกหลานกลับมาอยู่ด้วยกัน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีโอกาสได้ดูแลกัน ถ้าลูกแต่ละคนอยู่กันคนละที่ เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ต่างคนก็ต่างมีภาระดูแลกันไม่ได้ จะเรียกว่าความสุขได้จริงหรือ
กลับกันเมื่อเราทำการเกษตรพ่อ แม่ ลูกได้อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน พักผ่อนด้วยกัน นี่แหละคือความสุข มันน่าจะตอบโจทย์ได้ในเรื่องของความสุขที่แท้จริง” ลุงบุญมีทิ้งท้าย