นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ที่ประเทศอังกฤษจริง หลังปรากฏภาพอดีตนายกรัฐมนตรี ถ่ายคู่กับคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวกรุงลอนดอน เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
นายดอนชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเล่าให้ฟังว่านางสาวยิ่งลักษณ์พำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นเพียงการรับฟังมา แต่ไม่ได้เห็นตัว คาดว่าถือพาสปอร์ตหรือเอกสารเดินทางของประเทศอื่น เนื่องจากพาสปอร์ตของประเทศไทยหมดอายุไปแล้ว
ส่วนกรณีที่เว็บไซต์ตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพลไม่มีหมายจับนางสาวยิ่งลักษณ์ในสารบบนั้น เป็นเรื่องของผู้ถือกฎหมายต้องประสานกัน ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ และหากนางสาวยิ่งลักษณ์จะขอลี้ภัยในสหราชอาณาจักร ต้องพิจารณาหลายปัจจัยทั้งเรื่องการเมือง, กฎหมาย, และการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไม่มีหน้าที่ในการคัดค้านการขอสถานะผู้ลี้ภัย
ส่วนรัฐบาลต้องพิจารณาก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่ จึงจะมาคุยกันว่าใครจะทำหน้าที่ในการคัดค้านการยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย ทั้งนี้นายดอนยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โพสต์ประกาศให้คนไทยในฟินแลนด์เตรียมเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปี 2561 นั้น นายดอน กล่าวว่า เป็นเรื่องของการเตรียมการโดยปกติ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคนไทยให้มีความชัดเจน ส่วนการโพสต์เตรียมการเลือกตั้งปีนี้ ก็ถือเป็นความผิดพลาดของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮลซิงกิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์องค์การตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล ยังไม่ปรากฎชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาหนีการจับกุมของประเทศไทย คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำ แต่ยังคงมีเพียงชื่อของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาหลบหนีคดีขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ตำรวจ สน.ทองหล่อ อยู่คนเดียวเช่นเดิม
พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวสปริงออนไลน์ว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการยื่นร้องขอให้ออกหมายจับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปที่ตำรวจสากลแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งผลก็คือทางตำรวจสากล ไม่รับคดีของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ดังนั้นเมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์อินเตอร์โพล จึงไม่ปรากฎชื่อ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ตำรวจโทปองพล กล่าวต่อว่า หลักการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับการขอหมายจับนั้น เป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการตำรวจสากล ซึ่งโดยทั่วไปจะรับพิจารณาในทุกคดีอยู่แล้ว เว้นแต่บางคดีที่มีความละเอียดอ่อน และ เปราะบาง อย่างคดีที่เกี่ยวกับศาสนาหรือการเมือง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไทยก็ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและตามหน้าที่ จนถึงที่สุดแล้ว