ไม่พบผลการค้นหา
‘ยิ่งลักษณ์’ อาจถือพาสปอร์ตมากกว่า 2 ประเทศ จึงไม่จำเป็นขอ"ลี้ภัย"ขณะที่ อินเตอร์โพลยังไม่ตอบรับขอหมายจับจากไทย เทียบกรณีขอผู้ร้ายข้ามแดน 2อดีตนายกรัฐมนตรีกลับไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย

กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง  กระตุกรัฐไทย หลังมีภาพหลุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฎตัวที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร จะติดตาม  อดีตนายกรัฐมนตรีกลับประเทศ ได้อย่างไร..สามารถขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่

ไม่ใช่เรื่องง่าย!!   แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องยากใน การติดตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ เพราะต้องทำตามขั้นตอนของราชการเป็นเรื่องของกฎหมาย ที่ต้องได้รับการยืนยันมาตามขั้นตอนที่ชัดเจนก่อน

ขณะที่ นายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ  ก็ออกมายืนยันไม่แตกต่างกันว่า ขั้นตอนการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก 5 ปีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โครงการจำนำข้าว นั้นต้องชัดเจนเรื่องที่อยู่ในประเทศที่ร้องขอ

นอกจากนี้จะต้องเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ที่เป็นคดีความผิดโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี, เป็นคดีอาญาความผิดทั้ง 2 ประเทศ และไม่ใช่เรื่องการทหารหรือการเมือง

แม้อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ จะยืนยันว่า คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชัดเจนว่าคดีตัดสินถึงที่สุดแล้วให้จำคุกและเป็นคดีอาญาผ่านกระบวนการพิจารณาทางศาลมาครบถ้วน ไม่ใช่คดีทางการทหารหรือการเมือง ที่เข้าข้องดเว้นการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งเป็นเงื่อนไขสากลปฏิบัติกัน

ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยื่นขอยืนยันแหล่งที่อยู่ของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ตามขั้นตอนของอินเตอร์โพลอังกฤษ มาแล้วหลายครั้ง แต่ดูจะไม่ได้รับการตอบรับ

ล่าสุด พ.ต.อ.สุระพันธ์ ไทยประเสริฐ รองผู้บังคับการกองการต่างประเทศ จะบอกว่า  ประสานไปยังตำรวจสากลเพื่อออกหมายจับหรือหมายแดง น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว แต่เบื้องต้นยังไม่สามารถออกหมายจับได้ เนื่องจากทางตำรวจสากลให้เหตุผลว่า หลักฐานที่ทางการไทยส่งให้ยังไม่ครบถ้วน

แม้จนถึงวันนี้กว่า 4 เดือนที่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ออกนอกประเทศนับจากวันที่25 สิงหาคม 2560 นับจากที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว แต่กระบวนการติดตามตัวไม่มีความคืบหน้า และไม่มีเสียงตอบรับจากประเทศปลายทางที่คาดว่าอดีตนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปพำนัก

ยิ่งเมื่อเทียบกับ กรณีติดตามอดีตนายกรัฐมนตรี  ดร. ทักษิณ ที่ใช้เวลามานานกว่า 11 ปี นับจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้ในปี 2551 ดร .ทักษิณได้กลับมาประเทศไทย แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม

ในเรื่องนี้  นายอำนาจ ยอมรับเช่นกัน การติดตามตัว ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาฯจำคุกถึงที่สุด 2 ปีคดีซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่อัยการเคยยื่นคำขอไปแล้วร่วม 10 ประเทศทั้งแถบยุโรปและเอเชีย แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากประเทศดังกล่าว เลย   ทั้งนี้เพราะการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นการพิจารณาคำร้องของประเทศปลายทางคืออังกฤษซึ่งจะก้าวล่วงไม่ได้

กล่าวโดยสรุป แนวทางของรัฐไทยในการติดตามอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะในฐานะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการขอค้านการลี้ภัยเพื่อให้กลับประเทศจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายอย่างที่คิด

ยิ่งเมื่อแหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.)ยืนยันว่า อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจถือพาสปอร์ตมากกว่า 2 ประเทศ จึงไม่จำเป็น ต้องยื่นขอลี้ภัย

และยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 10 มกราคม 2561 ได้รายงานข่าว ระบุที่มาจากพรรคเพื่อไทยว่า อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ไม่ได้ยื่นขอ ลี้ภัยในประเทศ อังกฤษ แต่ขอวีซ่านักลงทุน เพราะ การลงทุนในประเทศอังกฤษจึงได้สิทธิพักอาศัยในอังกฤษได้ 5 ปี และสามารถต่ออายุได้ 5 ปี

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เลือกขอลี้ภัยตั้งแต่ต้น แม้จะสามารถขอได้ เพราะเกรงว่าการขอลี้ภัยอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้

รวมไปถึงเงื่อนไขในการเป็นผู้ลี้ภัยจะถูกจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวต่างๆ ดังนั้นจึงใช้วีซ่านักลงทุนโดยได้สิทธิพักอาศัยในอังกฤษ

สำหรับขั้นตอนการขอวีซ่าประเภทนักลงทุนหรือเทียร์ 1  ในอังกฤษ  เว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษ www.gov.uk  ระบุว่า  ผู้ที่เข้าข่ายจะขอวีซ่าดังกล่าวได้ต้องมีเงินลงทุนในอังกฤษเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านปอนด์ หรือราว 88 ล้านบาท โดยวีซ่าประเภทนี้จะเปิดให้แก่ผู้ที่มาจากนอกเขตเศรษฐกิจยุโรป (อีอีเอ) และ สวิตเซอร์แลนด์ โดยต้องแสดงหลักฐานเกี่ยวกับเงินที่จะใช้ลงทุนไม่น้อยกว่า 2 ล้านปอนด์ประกอบการยื่นขอวีซ่า

ผู้ขอยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลอังกฤษกำหนดอีกด้วย โดยผู้ที่ยื่นขอวีซ่าสำหรับนักลงทุนในอังกฤษ จะต้องยื่นเอกสารให้ทางการอังกฤษพิจารณาก่อนเดินทางอย่างน้อย 3 เดือน โดยรัฐบาลอังกฤษใช้เวลาพิจารณาอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้ผู้ร้องหรือไม่ ภายใน 3 สัปดาห์ และต้องเสียค่าธรรมเนียมยื่นเรื่องขอวีซ่าสำหรับนักลงทุนผ่านระบบออนไลน์หรือส่งไปรษณีย์ จำนวน 1,561 ปอนด์ หรือราว 68,700 บาท และต้องซื้อประกันสุขภาพแนบไปกับเอกสารยื่นขอวีซ่าด้วย

หากได้รับอนุมัติวีซ่านักลงทุน ผู้ขอจะอยู่ในอังกฤษ ได้สูงสุด 3 ปี 4 เดือน โดยผู้ขอยื่นเรื่องเพื่อขยายเวลาอยู่ในอังกฤษต่อไปได้อีก 2 ปี โดยผู้ขอสามารถนำเงิน 2 ล้านไปลงทุนในอังกฤษ อาทิ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ใช้เป็นทุนจดทะเบียน เป็นเงินกู้ยืม หรือซื้อขายกับบริษัทที่จดทะเบียนในอังกฤษ ผู้ที่ได้รับวีซ่าชนิดนี้สามารถทำงานและศึกษาในอังกฤษได้ และยังยื่นขอตั้งรกรากในอังกฤษได้หลังจาก 2 ปีหากมีเงินลงทุนในอังกฤษ 10 ล้านปอนด์ หรือ 440 ล้านบาท แต่หากมีเงินลงทุน 5 ล้านปอนด์ หรือ 220 ล้านบาท ก็ยื่นขอตั้งรกรากในอังกฤษหลังจากอยู่ในอังกฤษแล้ว 3 ปี

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ยื่นขอวีซ่าชนิดนี้ไม่สามารถลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ไม่สามารถได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และไม่สามารถทำงานเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ หรือทำงานในแวดวงกีฬาได้

การขอตัว2อดีตนายกรัฐมนตรีกลับประเทศไทย ..จึงทำได้แค่ความพยายามแต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเสียงตอบรับจากประเทศปลายทาง