ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาสังคมไทยย้ำจุดยืน เรียกร้องรัฐบาล คสช.ยุติเจรจา RCEP และ CPTPP รอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ ระบุ ห่วงการผูกขาดยา เมล็ดพันธุ์ จำกัดบทบาทรัฐในการออกนโยบาย

ตัวแทนภาคประชาสังคมของไทยและตัวแทนภาคประชาชนจากประเทศต่างๆ รวม 16 ประเทศ ได้ใช้โอกาสในการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และ 6 ประเทศภาคี เข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหัวหน้าคณะเจรจา RCEP จาก 16 ประเทศ เพื่อบอกเล่าถึงข้อห่วงใย

โดยนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าหารือว่า ข้อห่วงใยยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เรื่องอีคอมเมิร์ซที่อาจเข้ามาละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงเรื่องกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน

นางสาวกรรณิการ์ ย้ำว่า จุดยืนของประเทศไทย ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่และผูกพันยาวนาน รัฐบาลรัฐประหารไม่ควรเจรจา โดยเฉพาะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่พูดถึงแต่ข้อดีและรับฟังความคิดเห็นด้านเดียว ซึ่งรัฐบาลไม่ควรเดินหน้าในประเด็นเหล่านี้ ควรรอให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาดำเนินการ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การมีส่วนร่วมประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ ระบุด้วยว่าข้อห่วงกังวลก็คือ ผลของข้อตกลงอาจนำมาซึ่งผูกขาดยา ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ คุ้มครองนักลงทุน ทำให้นักลงทุนฟ้องร้องรัฐได้ แม้รัฐจะออกนโยบายดีๆ เพื่อประชาชน ก็ตาม มีผลให้จำกัดพื้นที่กำหนดนโยบายของรัฐ อำนาจในการกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะหายไป

"ช่วยเจรจาให้ไม่แย่เท่าที่เรากังวลได้ไหม" น.ส. กรรณิการ์กล่าว และว่า ในส่วนของ CPTPP นั้นยากกว่า RCEP ตรงที่เจรจาผ่านไปแล้ว

"ส่วน CPTPP ความยากคือมันเจรจาจบไปแล้ว แต่มีเรื่องที่น่ากังวลในนั้นเยอะมาก แต่เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เดินหน้่าทำกระบวนการรับฟังประชาชนไปบ้างแล้ว และในวันที่ 6 ส.ค. จะมีการรับฟังที่บางแสน และจัดใหญ่ที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะบอกว่ามีงานวิจัยอยู่ก็ตาม"

น.ส. กรรณิการ์ระบุด้วยว่า ในส่วนของ CPTPP นั้น การที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปแล้วก็ส่งผลให้ความสำคัญของข้อตกลงนี้ลดลง


"จุดยืนคือเจรจาได้แต่อย่าเพิ่งทำความตกลง แต่ TPP ต้องไม่ทำเลย ต้องมีการเลือกตั้งและแก้รัฐธรรมนูญก่อน ต้องดึงมาตรา 190 กลับมา เพื่อกำกับการทำสัญญาระหว่างประเทศของรัฐ หลังเลือกตั้งให้รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญก่อน และช่วงหาเสียง พรรคการเมืองต่างๆ ต้องบอกมาเลยว่าจะเดินหน้าความร่วมมือเหล่านี้หรือไม่ และกระบวนการตรวจสอบต้องโปร่งใส"


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ภาคประชาสังคมแสดงความกังวล ต่อการที่ไทยแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวม 25 หน่วยงาน ร่วมเป็นคณะทำงาน 

ซึ่งได้มีการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด และจัดหารือรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561

นางอรมน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเตรียมจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของไทย ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 ขณะเดียวกันได้จัดจ้างสถาบันวิจัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก ที่มีความเป็นกลาง ดำเนินการศึกษาผลประโยชน์ ผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP เพิ่มเติมจากที่เคยจ้างศึกษาไว้

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ส่วนประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในกรอบ CPTPP ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ในกรอบ RCEP ก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเจรจาเช่นกัน

ส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดบริการของภาครัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ และพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ กรมเจรจาการค้าฯ พร้อมรับฟัง และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่ประชุม RCEP ตกลงให้ประเด็นนี้เป็นเพียงความร่วมมือระหว่างสมาชิกเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: