ไม่พบผลการค้นหา
เผยจีนเก็บงำตัวอย่างเชื้อไวรัสหวัดสายพันธุ์ร้ายแรง 'เอช7เอ็น9' ไว้กว่าปีโดยไม่ยอมแบ่งปันสหรัฐฯ ทำให้วงการแพทย์วิตกหนัก เกรงจะไม่มีมาตรการรับมือหากมีการระบาดใหญ่ แถมบรรยากาศการตอบโต้ทางการค้ายิ่งทำให้มีโอกาสในการตั้งกำแพงกีดกันกันมากขึ้น

นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า วงการแพทย์และนักวิจัยสหรัฐฯ กำลังวิตกว่าสหรัฐฯ จะขาดศักยภาพในอันที่จะป้องกันตัวเองในกรณีที่มีการระบาดใหญ่ (pandemic) ของไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ที่มีอันตรายร้ายแรง คือ เอช7เอ็น 9 (H7N9) เพราะจีนไม่ยอมส่งตัวอย่าง (samples) ให้นำไปศึกษาหรือพัฒนาวัคซีน แม้ว่าเวลาจะผ่านพ้นการระบาดของเชื้อดังกล่าวในจีนมาได้กว่าปีแล้ว 

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่าไวรัสตัวนี้ปรากฎตัวในจีนอย่างชัดเจนเมื่อปี 2556 โดยฝังตัวอยู่ในกลุ่มประชากรสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต่างๆ และปรับเปลี่ยนตัวเองจนกระทั่งกลายมาเป็นไวรัสที่อันตรายมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่งที่สามารถติดต่อระหว่างคนถึงคนได้ และอัตราการเสียชีวิตของคนที่ติดเชื้อไวรัสนี้ คือ ร้อยละ 40 

ปกติแล้ว จากมาตรการที่องค์การอนามัยโลกได้ประสานงานกับชาติต่างๆ กำหนดเอาไว้นั้น จะช่วยให้ประเทศต่างๆนำเอาตัวอย่างของเชื้อไวรัสที่ระบาดในประเทศตนไปแบ่งปันกับประเทศอื่น ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันให้ทันท่วงที เนื่องจากไวรัสไข้หวัดเป็นเชื้อไวรัสที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็วมาก และนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งวงการแพทย์เชื่อว่า ไข้หวัดเป็นหนึ่งในเชื้อโรคที่มีโอกาสจะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ของโลกในอนาคต

นอกจากนี้ การระบาดใหญ่ของไข้หวัดจะเป็นการระบาดที่เชื้อโรคแพร่ตัวได้รวดเร็วมากกว่าประเภทอื่นๆ และมีการพูดถึงเวลาที่จะต้องทำงานว่ามีความหมายทุกนาที

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ปกติแล้วกระบวนการแลกเปลี่ยนตัวอย่างเชื้อโรคมักจะใช้เวลาหลายเดือน เนื่องจากมีหลายขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง แต่ในกรณีนี้ นสพ.รายงานว่า หากนับจากการระบาดหนหลังสุดของเอช7 เอ็น9 ซึ่งทำให้มีผู้ติดโรคถึง 766 คนส่วนใหญ่ในจีนนั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนยังไม่ได้มอบตัวอย่างของเชื้อให้กับห้องทดลองใด แม้ว่าจะมีการติดต่อขอตัวอย่างดังกล่าวหลายครั้งโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ก็ตาม

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ของกระทรวงการเกษตรสหรัฐฯบอกว่า ได้พยายามติดต่อขอตัวอย่างจากจีนหลายครั้งหลายหนจนในที่สุดต้องเลิกราไปเองเพราะไม่ได้รับการตอบสนอง นสพ.ระบุว่านักข่าวของตนได้พยายามติดต่อขอความเห็นในเรื่องนี้จากสถานทูตจีนในสหรัฐฯแต่ไม่ได้รับการตอบสนองเช่นกัน

นิวยอร์กไทมส์รายงานอ้างนักวิจัยชี้ว่า เมื่อแรกที่ไวรัสตัวนี้ปรากฎขึ้นในจีน จีนดูจะให้ความร่วมมือกับนานาชาติและให้ข้อมูลเป็นอย่างดี แต่แล้วสถานการณ์ค่อยๆเปลี่ยนไป 

นอกจากนี้ รายงานของนิวยอร์กไทมส์กล่าวถึงความตึงเครียดในเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงหลังและโอกาสที่เรื่องนี้จะกระทบมาึงเรื่องความร่วมมือทางการแพทย์มากขึ้นไปอีก โดยรายงานระบุว่าสหรัฐฯได้ทำบัญชีสินค้านำเข้าจากจีนที่จะขึ้นภาษี ซึ่งแม้ว่าอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไข้หวัดยังไม่รวมอยู่ในบัญชี แต่บรรยากาศของการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมานั้นไม่คืบหน้า ทำให้เห็นกันว่าโอกาสในอันที่จะมีการนำเอาสินค้าอุปกรณ์ด้านการแพทย์มารวมเข้าไปในบัญชีสินค้านำเข้าที่จะมีการเพิ่มภาษีนำเข้าก็มีสูงมาก

นสพ.รายงานว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯนั้นพึ่งพาจีนในเรื่องอุปกรณ์การแพทย์บางตัวที่จำเป็น และบางอย่างจะต้องสั่งซื้อด้วยระบบผลิตแบบตอบสนองทันท่วงทีโดยไม่มีการผลิตและเก็บรอไว้ล่วงหน้า ปัญหาก็คือว่า นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รู้สึกว่า ในบรรยากาศเช่นนี้เจ้าหน้าที่ที่รับมือกับการเจรจาการค้าและการตอบโต้ด้านการค้าไม่เข้าใจความสำคัญของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ว่าไม่ใช่สิ่งที่จะนำไปรวมในบัญชีตอบโต้การค้ากันได้เพราะมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขต่อทั้งโลก

นิวยอร์คไทมส์ยังกล่าวในรายงานชิ้นนี้ด้วยว่า ที่ผ่านมาจีนเคยใช้ข้อมูลของโรคระบาดและตัวอย่างเชื้อโรคไปเป็นเครื่องมือในการทำสงครามทางการค้าด้วย ในปี 2545 จีนปิดบังเรื่องโรคซาร์จากนานาชาติไว้ร่วม 4 เดือนรวมทั้งยังเก็บงำผลการตรวจสอบที่ได้ไว้ไม่บอกใครอีกด้วย ปี 2548 จีนยืนยันว่าสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสเอช5 เอ็น1 ได้ ซึ่งสวนทางกับข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งนำเสนอหลักฐานว่าที่จริงแล้วไวรัสกำลังแพร่ขยายมากกว่า เจ้าหน้าที่จีนไม่ยอมส่งต่อและแบ่งปันตัวอย่างเชื้อให้กับประเทศอื่น นสพ.ชี้่ว่าเป็นเพราะวิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมไก่ของจีนเอง ถัดมาอินโดนีเซียทำตามบ้าง ปกปิดไม่แบ่งปันตัวอย่างของเชื้อเอช5 เอ็น1 อ้างเหตุผลว่าจะทำให้ประเทศอื่นนำไปพัฒนาวัคซีนที่ตัวเองไม่สามารถซื้อหาได้เพราะราคาแพง

ทั้งหมดนี้ทำให้ในปี 2554 องค์การอนามัยโลกพัฒนากรอบความร่วมมือที่กำหนดให้ประเทศต่างๆ ประสานงานกันเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ ภายใต้กรอบนี้กำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันตัวอย่างเชื้อซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตามนิวยอร์คไทมส์ชี้ว่า การรับมือการระบาดของเชื้อใหม่ๆ มีต้นทุนสูงมาก แต่ในขณะเดียวกัน หากเก็บไว้พัฒนาทางแก้ปัญหา เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จะช่วยรักษา จีนก็จะได้ประโยชน์จากการระบาดเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: