นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความเข้าใจไม่ตรงกันเรื่องเวลา 70 วัน ที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าเพียงพอในการหาเสียง เพราะในอดีตเคยใช้เวลา 20 กว่าวันด้วยซ้ำ และตั้งเป็นคำถาม ว่าถ้าอยากหาเสียงนานก็เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปจาก ก.พ. 2562 ก็ได้
ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าเราต้องแยกระหว่างการทำนโยบายและการหาเสียง อย่าเอาไปปนกัน อุปมาการทำนโยบายเหมือนการถ่ายทำหนังซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนการเอาหนังมาฉายในโรงหนังเหมือนการเอานโยบายมาให้ประชาชนพิจารณาช่วงหาเสียง มันคนละเรื่องคนละตอนกัน
พรรคการเมืองเขาไม่เคยบ่นเรื่องเวลาหาเสียง 70 วัน ซึ่งใครก็รู้ว่าเพียงพอ แต่ที่เขาเรียกร้องคือการปลดล็อกให้ทำนโยบายได้ ไปพบปะประชาชนรับฟังความเห็นได้ ไม่ใช่นั่งเขียนเอาเอง ที่บางฝ่ายบอกว่าเวลายุบสภาแล้วเลือกตั้งภายในเวลาสั้นๆ ทำไมพรรคทำนโยบายหาเสียงทัน คำตอบคือเพราะในกรณีนั้นพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องมาตลอด ไม่ต้องถูกห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และห้ามพรรคทำกิจกรรมทางการเมืองเช่นที่ห้ามตามคำสั่ง คสช ที่ 57/57 และ 3/58 ในขณะนี้
ดังนั้น ในกรณีการเมืองปกติ พรรคการเมืองพบปะสมาชิกและประชาชนโดยตลอด จึงสามารถทำนโยบายได้ต่อเนื่องไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและกิจกรรม ส่วนที่บางฝ่ายบอกว่านั่งเขียนที่พรรคโดยไม่ต้องไปลงพื้นที่พบประชาชนก็ได้ ตนยอมรับว่าบางเรื่องนั่งเขียนแบบนึกเอาเองก็พอได้ เช่นเสนอนโยบายให้ผลิตช่างฝีมือในสาขาขาดแคลน เป็นต้น
แต่ถ้าจะเสนอแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล มันจะดีกว่าไหมถ้าเราไปดูโรงเรียน สภาพห้องเรียน ฟังครูและผู้ปกครองในชุมชน ซึ่งการเขียนนโยบายจะตอบโจทย์ได้มากกว่า
"ที่พรรคเรียกร้องเนื่องจากเรายึดเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง รัฐบาลจะสามารถปลดล็อกหรือไม่ก็เป็นอำนาจของท่าน แต่อย่างน้อยควรสามารถรับรู้ว่าพรรคการเมืองเขาเรียกร้องอะไร และใครจะได้ประโยชน์" นายนพดล กล่าว
'ภูมิธรรม' ถามย้ำ 'ประยุทธ์' กลัวอะไร ทำไมไม่รีบปลดล็อกพรรคการเมือง
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า การปลดล็อคให้การเมืองของประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดคือ วิถีทางที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าและหลุดพ้นจากวิกฤติทั้งปวงและจะทำให้ประชาชนสามารถกลับคืนมามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
เพราะเกือบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษมานานพอสมควรแล้ว รัฐบาลและคสช.ได้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่องโดยประชาชนทุกฝ่าย ไม่ได้สร้างเงื่อนไขใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าของประเทศเลย
แต่ตลอด 4-5ปีที่ผ่านมานี้ "กลุ่มผู้มีอำนาจ" ได้ ดำเนินการรีเซ็ทสมาชิกของทุกพรรคการเมือง/ยุบสาขาพรรคการเมืองของพรรคการเมืองเดิมทุกพรรคและได้ใช้เงื่อนไขที่ "ฝ่ายตน" ได้เปรียบดำเนินการหาความนิยม ออกเดินสายพบประชาชนและและใช้งบประมาณในการสร้างผลงานไปตามความคิดความเชื่อของฝ่ายตนแต่เพียงผู้เดียว เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง มาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นการกระทำ ที่เอาเปรียบผู้อื่นทุกฝ่ายมากมาย
ดังนั้น การสร้างความได้เปรียบทุกฝ่ายมามากขนาดนี้แล้ว ยังมีความหวาดกลัวอะไรอีก จึงอยากถามนายกฯ ประยุทธ์ รองนายกฯ วิษณุและผู้มีอำนาจในรัฐบาลทุกคน วันนี้พวกท่านกลัวอะไรจึงไม่กล้าปลดล็อคให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีอิสรภาพที่จะพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อร่วมหาทางออกประเทศและขอสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของชีวิตของพวกเขาให้คืนกลับมาดุจเดิม
"ท่านนายก และท่านรองนายกกลัวอะไร"
เมื่อการปลดล็อคทางการเมืองคือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนและทุกพรรคการเมืองได้มีโอกาสร่วมกันระดมความคิดและช่วยกันหาทางออกให้ประเทศพ้นจากวิกฤติด้วยกระบวนการช่วยกันแสวงหาและกำหนดนโยบายใหม่ที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและชีวิตของประชาชนเองเป็นสิ่งไม่ดีตรงไหน
วานนายกฯ ประยุทธ์และรองนายกฯ วิษณุช่วยตอบให้กระจ่าง...หรือว่า จะมีผลไปกระทบแผนการที่จะเดินหน้าเพื่อขอเป็นรัฐบาลต่อไปอีกสมัยหนึ่ง...ช่วยอธิบายให้ประชาชนเข้าใจด้วยครับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง