ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจจะยังชะลอตัวต่อเนื่องในปีไตรมาสที่ 4 และปี 62 ไทยต้องพึ่งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก รวมทั้งเรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจีนกลับคืนมา

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม 2561 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกกลับมาในแดนบวกสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีไทยยังคงเผชิญกับปัญหาภาวะนักท่องเที่ยวจีนลดลงที่กระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็ปรับตัวลดลงจากรายจ่ายประจำ

การกลับมาของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ

การบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคมขยายตัวสูงในทุกหมวด อยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 6.5 จาก 2.5 ในเดือนกันยายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดสินค้าคงทน ซึ่งปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 10.8 จาก 6.1 ในเดือนกันยายน ในส่วนของการบริโภคด้านการบริการยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนตุลาคมยังติดลบอยู่ เนื่องจากมีการใช้จ่ายในด้านการขนส่ง โรงแรม และภัตตาคารอย่างเข็มแข็ง

ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคโดยรวมมาจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัวสูงขึ้น และรายได้ในครัวเรือนภาคเกษตรกรรมที่กลับมาขยายตัวในด้านผลผลิตแต่ในด้านราคายังเป็นลบอยู่ ในภาคเกษตรกรรมมีเพียงข้าวเท่านั้นที่ราคาขยายตัวดี เกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันยังเผชิญหน้ากับราคาที่ตกต่ำ แม้จะมีการอุดหนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

 เจาะเข้าถึงใจผู้บริโภค 3 Gen

แม้การใช้จ่ายภาคเอกชนจะมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากความกังวลด้านเศรษฐกิจโดยรวม ค่าครองชีพ และการหางานทำ อย่างไรก็ตาม ระดับที่ปรับลดลงมาไม่ได้มากนัก ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สูงและไม่มีความน่ากังวลใดๆ


“แม้ว่าความมั่นใจของผู้บริโภคจะลดลงบ้าง แต่ว่าโดยรวมยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี” นายดอน กล่าว


ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว ตามการขยายตัวในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดก่อสร้าง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างอย่าง เสาเข็มคอนกรีต ซีเมนต์ผสม ท่อซีเมนต์ และคอนกรีตผสมสำเร็จ ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นชัดเจนโดยดีดขึ้นกลับมาอยู่ในแดนบวกทั้งหมด จากที่ในเดือนกันยายนนั้น การลงทุนทุกตัวติดลบหมด อย่างไรก็ตามในส่วนของพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่อง

ปัจจัยหลักที่ฉุดตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และเดือนกันยายนที่ผ่านมาอย่างการส่งออกกลับมาแดนบวกในเดือนตุลาคม โดยปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.4 จากเดือนที่ติดลบร้อยละ 5.5 สาเหตุหลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยฟื้นตัวมาจาก การหมดไปของปัจจัยชั่วคราวจากภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง รวมถึงความชัดเจนของมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการสั่งสินค้า โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์และยางพารา

AFP-ข้าว-โรงงาน-ส่งออก-ข้าวถุง

เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นได้ว่าการส่งออกมีการขยายตัวในหลายหมวดสินค้าและเกือบทุกตลาดการส่งออกสำคัญ ได้แก่ (1) สินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีการขยายตัวด้านราคาเป็นสำคัญ (2) สินค้าเกษตร ได้รับอานิสงส์จากความต้องการสั่งซื้อข้าวของประเทศคู่ค้าที่ดีต่อเนื่อง (3) สินค้าเกษตรแปรรูป โดยมีน้ำตามเป็นสำคัญ (4) เครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้ในภาคการเกษตร

ด้วยปัจจัยบวกในด้านการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกทำให้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะการผลิตน้ำตาล และหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม การขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่สัดส่วยร้อยละ 4.1 จากเดิมที่ติดลบร้อยละ 2.7

อย่างไรก็ตามเมื่ออ้างอิงตัวเลขคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2561ตามกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 8 ธปท. มองว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่จะถึงเป้า เนื่องจากจะต้องทำยอดใน 2 เดือนที่เหลือ คือ พฤศจิกายน และ ธันวาคม ให้ได้ประมาณ 22.1 ล้านบาท ซึ่งค่อนข้างยากเนื่องจากโดยปกติยอดการส่งออกในสองเดือนสุดท้ายของปีไม่ได้มีมูลค่าสูงนัก

ท่องเที่ยวไทยยังไม่ฟื้น

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ปัญหานักท่องเที่ยวจีนลดลงยังคงมีต่อเนื่อง ในเดือนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงสูงถึงร้อยละ 19.8 ส่วนหนึ่งมาจากภาวะความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบกับการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ มาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยเฉพาะอินเดีย ที่มียอดนักท่องเที่ยวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังรัฐบาลออกมาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว (Visa on Arrival: VoA)

 Biz Insight   นักท่องเที่ยวชี้ ตม.ไทยเรียกโชว์เงินเลือกปฏิบัติ

เมื่อมองถึงอีก 2 เดือนที่เหลือของปีและไตรมาสที่ 4 การท่องเที่ยวไทยอาจจะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่เนื่องจากภาวะนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงยังคงต้องใช้เวลาในการเรียกความมั่นใจกลับมา อีกทั้งการดึงนักท่องเที่ยวชาติอื่นให้มาเที่ยวนั้น ไทยต้องแข่งขันกับอีกหลายประเทศเช่นกัน


“ตอนนี้ก็มีข่าวว่า ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ก็มีโอกาสคิดว่าน่าจะกลับเป็นบวกได้ แต่ว่าไม่เยอะ คือทั้งปี ตั้งแต่ตั้นปีบวกมา 8% 2 เดือนสุดท้ายไม่น่าเป็นไปได้ที่จะโตเยอะ ถ้าบวกก็บวกได้นิดเดียว” นายดอน กล่าว


รัฐ: ใช้จ่ายชะลอตัว-ลงทุนสูงขึ้น

การใช้จ่ายภาครัฐที่มีการหดตัวลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของรายจ่ายประจำทั้งรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายการลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างของกรมทางหลวง และการเบิกจ่ายเพื่อบำรุงอากาศยานและจัดซื้อยานพาหนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำคัญ

ค่าเงินบาท

ปิดท้ายด้วยเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานที่ชะลอลง สำหรับอัตราการว่างงานทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ อยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.9 ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน ในส่วนของอัตราเเลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์นั้นปรับตัวอ่อนลงจากสิ้นเดือนก่อน

เศรษฐกิจประเทศไทยยังต้องประสบกับการชะลอตัวทั้งในไตรมาสที่ 4 และปีหน้าทั้งปี จากประเด็นสงครามการค้าเป็นสำคัญรวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก ปัจจัยที่จะมาช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยคือ การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังการเลือกตั้ง ธปท. หวังว่าไทยจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้หลังการเลือกตั้งให้เข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้