ไม่พบผลการค้นหา
อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด เรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบหลังมีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูง เดินสายยื่นข้อเสนอ 'นายก อบจ.' ที่ถูก ม.44 แขวน หากสามารถดูดอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมก๊วนพรรคหนุน คสช.ได้ มีหวังกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำการคลายล็อกให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้บางส่วน ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่งคงในระดับสูง เดินสายดูดนักการเมือง เข้ามาทำงานการเมืองกับกลุ่มการเมืองในเครือข่ายที่จะสนับสนุนรัฐบาล คสช.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

โดยตั้งข้อสังเกตว่า มีการไปเดินสายไปพบนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ.ที่ถูกมาตรา 44 สั่งระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจูงใจว่าหากนายก อบจ. ที่ถูกแขวนคนใด สามารถดูดอดีต ส.ส.ของพรรคพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น จ.นครพนม มาอยู่กับพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล คสช.ได้ จะปลดล็อกให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ในการประกาศปลดล็อกครั้งหน้า

รวมถึงจะมอบหมายให้เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการเลือกตั้งในจังหวัด พร้อมมอบให้ดูแลงบประมาณ สัญญาว่าจะแบ่งเขตเลือกตั้งให้ได้เปรียบที่สุด ปิดประตูแพ้ได้เลย รวมถึงมีการเสนอเงินในการย้ายพรรคให้กับอดีต ส.ส. งวดแรก รายละ 10 ล้านบาท 

"จึงอยากฝาก กกต. ให้เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ให้มีการตกเขียวทางการเมือง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปทำสัญญาประชาคมสร้างความสามัคคีปรองดองกับประชาชน ถ้าท่านไปกระทำการแบ่งแยกประชาชน ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันเกิดขึ้น ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา สร้างอุปสรรคสิ่งกีดขวางที่จะนำพาประเทศชาติและประชาชนไปสู่ความปรองดองหรือไม่ ขอให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจับตาการปลดล็อกนายกอบจ.รอบหน้า ว่าจะมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่" 

สำหรับความคืบหน้าในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อวานนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ โดยมีการเปลี่ยนแปลงสาระให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดเลือกตั้งจากเดิมที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ คาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจากเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งระดับชาติระยะห่าง 90 วัน โดยจัดการเลือกตั้ง 2 ระยะ คือ ระยะแรก 40 จังหวัดที่ไม่เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง และระยะที่สอง 36 จังหวัดที่เปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง

อ่านเพิ่มเติม