ไม่พบผลการค้นหา
มติเบื้องต้นของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง เห็นชอบให้ตัดทิ้งประเด็นจัดมหรสพระหว่างหาเสียงเลือกตั้งได้ ชง สนช.เห็นชอบ 28 ก.พ.

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ประชุมนัดแรก เพื่อทบทวนเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว หลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีความเห็นแย้งกับมติที่ประชุม สนช.ที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 

โดยที่ประชุมแต่งตั้งให้นายวิทยา ผิวผ่อง สมาชิก สนช. เป็นประธาน ทั้งนี้มีประเด็นที่ กรธ. และ กกต. มีข้อโต้แย้ง มีหลายประเด็น อาทิ การเปิดให้มีการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียง การให้ผู้อื่นกาบัตรลงคะแนนให้คนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ และการตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง การขยายระยะเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็น 07.00-17.00 น.

ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เปิดเผยหลังการประชุมนัดแรกว่า มติเบื้องต้นของที่ประชุมมีมติกลับไปใช้ร่างเดิม เรื่อง ห้ามไม่ให้จัดมหรสพระหว่างการหาเสียง ส่วนอีก 1 ประเด็น คือ การตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง มีมติให้พิจารณาปรับแก้รายละเอียดใหม่ให้เหมาะสม พร้อมยืนยัน ไม่กังวล กกต.จะทำให้ดีที่สุด เพื่อส่งมอบงานให้ กกต.ชุดใหม่ดำเนินการทุกอย่างได้ด้วยดี

เช่นเดียวกับ คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตั้งนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิก สนช. เป็นประธาน ทั้งนี้ กรธ. และ กกต. มีประเด็นแย้ง อาทิ การลดกลุ่มอาชีพจาก 20 กลุ่ม เป็น 10 กลุ่ม การยกเลิกการเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม เป็นการให้ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม 

โดยกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ จะมีเวลาในการพิจารณาปรับแก้ไขร่างฯ ให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ โดยคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นัดลงมติ วันที่ 26 ก.พ. ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ลงมติวันที่ 27 ก.พ.นี้ ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

ทั้งนี้ หาก สนช. มีมติไม่เห็นชอบ เกิน 2 ใน 3 จะส่งผลให้ร่างกฎหมายเป็นอันตกไป และต้องเริ่มกระบวนการยกร่างใหม่ หรือ หาก สนช. มีมติเห็นชอบ ประธาน สนช. ก็จะส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมฯประกาศใช้เป็นกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป