องค์การแพทย์ไร้พรมแดนหรือ MSF ประเมินว่า นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในรัฐยะไข่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญาลี้ภัยจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศมากกว่า 624,000 คนแล้ว และจากการสอบถามในค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ ทำให้แพทย์ไร้พรมแดนประเมินว่า น่าจะมีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตในช่วง 25 สิงหาคมถึง 24 กันยายนที่ผ่านมาอย่างน้อย 9,000 ราย
แพทย์ไร้พรมแดน ระบุว่า จากยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีกรณีการเสียชีวิตจากความรุนแรงมากกว่า 6,700 ราย เป็นเด็กอย่างน้อย 730 ราย ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงที่แพทย์ไร้พรมแดนประเมินสูงกว่าที่ทางการเมียนมาเคยออกมาเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ 400 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น 'ผู้ก่อการร้าย' แต่แพทย์ไร้พรมแดนระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่สูงมากเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ความรุนแรงจากทางการเมียนมามีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ขัดแย้ง
ด้านนางพรามิลา แพทเทิน ทูตพิเศษด้านความรุนแรงทางเพศในความขัดแย้งของสหประชาชาติระบุว่า มีกรณีที่ทหารเมียนมาล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงชาวโรฮิงญาอย่างโหดร้ายทารุณ มากมาย จึงแนะนำให้ตัวแทน 15 ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC ลงไปตรวจสอบพื้นที่ในรัฐยะไข่และค็อกซ์บาซาร์ พร้อมเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติความรุนแรงต่อพลเรือน
นับตั้งแต่เกิดเหตุในรัฐยะไข่ ทำให้นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติว่าเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาบริหารกรุงดับลินของไอร์แลนด์ ได้ลงมติให้เพิกถอนรางวัลเกียรติยศ 'เสรีภาพแห่งดับลิน' ซึ่งเคยมอบให้นางซูจี หลังจากที่นายบ๊อบ เกลดอฟ นักดนตรีและนักกิจกรรมชาวไอริชประท้วงด้วยการคืนรางวัลเกียรติยศที่ตนได้รับเช่นเดียวกับนางซูจีให้แก่คณะกรรมการมอบรางวัล โดยระบุว่าเขาไม่ต้องการเชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธ์โรฮิงญา